เมื่อวานนี้ผมเรียนท่านผู้อ่านไว้แล้วว่า กิจกรรมสำคัญใน “งานใหญ่” ที่พวกเราชาว “ไทยรัฐกรุ๊ป” จะจัดขึ้นในบ่ายวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท นั้นมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน
ส่วนแรก ได้แก่ การจัดเสวนาเพื่อระดมความคิดและข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ โดยนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงรวม 3 ท่าน และส่วนที่ 2 ได้แก่ การประมูลของการกุศลจากผู้มีชื่อเสียงหลายๆชิ้น เพื่อนำเงินประมูลเข้าสมทบมูลนิธิไทยรัฐ เพื่อสนับสนุนการศึกษาต่อไป
สำหรับวันนี้ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับกิจกรรมประการที่ 2 เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาเป็นไปอย่างย่อๆ และ “อัปเดต” สถานการณ์ล่าสุดของ มูลนิธิไทยรัฐ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบผลงานและความก้าวหน้าด้านการพัฒนาการศึกษาของชาติที่พวกเรามีส่วนร่วมมาตั้งแต่แรกเริ่มอีกครั้งหนึ่ง
แม้ในเอกสารของทางราชการจะระบุว่า มูลนิธิไทยรัฐ จากการริเริ่มของท่าน ผอ.กำพล วัชรพล ผู้อำนวยการท่านแรกของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้จดทะเบียนก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 อันเป็นวันที่ท่าน ผอ.กำพลมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
แต่ในข้อเท็จจริงแล้วท่าน ผอ.กำพล วัชรพล ได้ให้ความสำคัญต่อระบบการศึกษาของชาติมาก่อนหน้านั้น และได้เข้าร่วมสนับสนุนโรงเรียนในภูมิภาคตั้งแต่ พ.ศ.2512 ก่อนการก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐถึง 10 ปีเต็ม
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐภายใต้การนำของท่าน ผอ.กำพล วัชรพล ร่วมกับจังหวัดลพบุรี โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด พล.ต.ต.สามารถ วายวานนท์ ใน พ.ศ.ดังกล่าว ได้จัดการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษระหว่าง “ทีมดาราไทยรัฐ” กับ “ทีมผสมจังหวัดลพบุรี”...ณ สนามฟุตบอล โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย
...
เก็บค่าผ่านประตูจากผู้เข้าชมได้จำนวนหนึ่ง และได้รับเงินบริจาค “โดยตรง” จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อีกจำนวนหนึ่ง...
สามารถสร้างอาคารเรียนแบบ ป.008 ขนาด 5 ห้องเรียนขึ้น ได้ 1 ห้อง เป็นที่มาของ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 1 (บ้านหัวช้าง) อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ตามคำแนะนำให้ใช้ชื่อนี้ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี
จากนั้นท่าน ผอ.กำพลก็ได้เริ่มดำเนินการ “โครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพื่อชุมชนในชนบท” อย่างเป็นทางการ โดยใช้ งบประมาณ จาก บริษัท วัชรพล จำกัด เป็นทุนในการก่อสร้างอาคารเรียนพร้อมส่งมอบให้แก่ทางราชการ (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กระทรวงศึกษาธิการ)
จนกระทั่งถึงปี 2522 หรืออีก 10 ปีให้หลังท่านจึงได้จัดตั้ง “มูลนิธิไทยรัฐ” ขึ้นเพื่อให้มีหน้าที่ในการสนับสนุน และเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงเรียนไทยรัฐวิทยาทุกแห่งมาจนถึงทุกวันนี้
ในยุคของท่าน ผอ.กำพลก่อนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ.2539ท่านได้อนุมัติเงินให้สร้างอาคารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 101 แห่งทั่วประเทศ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 158,694,493 บาท และตั้งใจที่จะหยุดก่อสร้างไว้เพียงเท่านี้ก่อน
พร้อมทั้งมอบนโยบายใหม่แก่พวกเราให้หันมาทุ่มเทดูแลเอาใจใส่ และพัฒนาคุณภาพนักเรียนและโรงเรียนที่เราสร้างไว้ทั้ง 101 แห่ง โดยดำเนินการผ่าน มูลนิธิไทยรัฐ เป็นหลัก
ต่อมาเมื่อท่าน ผอ.กำพลได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชนเมื่อ พ.ศ.2562 ไทยรัฐ กรุ๊ป จึงมีมติสร้างเพิ่มอีก 10 แห่ง โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นอีก 50 ล้านบาท ทำให้มีโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้งสิ้นทั่วประเทศในปัจจุบัน 111 แห่ง มีครูอาจารย์ 1,773 คน และเด็กนักเรียนทั้งสิ้น 22,438 คน
เงินทุกบาทที่ประมูลได้จากของการกุศลคนดังในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 จะนำเข้าสมทบ มูลนิธิไทยรัฐ ทั้งสิ้น
เพื่อใช้สำหรับการ “พัฒนา” คุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิต...ให้แก่เด็กนักเรียนทั้งหมด ณ นาทีนี้ 22,438 คนทั่วประเทศไทยที่อยู่ในความดูแลของเราไปพร้อมๆกันครับ.
"ซูม"
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม