NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส เหนือฟ้าเมืองไทย ในวันใกล้โลกที่สุด มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าใสไร้เมฆ และอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงรบกวนน้อย โดยยังคงสังเกตการณ์ได้จนถึงช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคม
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า NARIT เผยภาพดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ในวันใกล้โลกที่สุด บันทึกเมื่อช่วงหัวค่ำ วันที่ 13 ตุลาคม 2567 ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันตก พาดสว่างเหนือฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ หากท้องฟ้าใสไร้เมฆ และอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงรบกวนน้อย สามารถเห็นหางของดาวหางได้ด้วยตาเปล่า สวยงามมาก
ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2567 เป็นต้นมา ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ได้กลับมาปรากฏในช่วงหัวค่ำ สังเกตได้ทางทิศตะวันตก ทันทีที่ท้องฟ้ามืดสนิท โดยจะอยู่บริเวณทางขวาของดาวศุกร์ (ดาวที่ปรากฏสว่างที่สุดในช่วงนี้ทางทิศตะวันตก) สำหรับวันที่ 13 ตุลาคม 2567 เป็นช่วงที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลกที่สุด ที่ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ปรากฏสว่าง และอยู่สูงจากขอบฟ้าพอสมควร จึงเป็นวันที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ แต่เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงมรสุม ท้องฟ้ามีเมฆมากในหลายพื้นที่ จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการชมดาวหาง
...
หลังจากนี้ ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส จะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ แต่จะยังคงสังเกตการณ์ได้จนถึงช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคม เนื่องจากดาวหางจะปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานขึ้น ทำให้มีเวลาสังเกตการณ์มากขึ้น ผู้สนใจสามารถติดตามดาวหางได้ทุกวันในช่วงค่ำ ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นต้นไป เมื่อทราบตำแหน่งคร่าว ๆ แล้ว ให้สังเกตวัตถุท้องฟ้าที่มีลักษณะเป็นดาวสว่างที่มีหางเป็นฝ้าจาง ๆ ยืดยาวออกมาบนท้องฟ้า หากใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาสังเกตการณ์จะช่วยยืนยันลักษณะ และเห็นดาวหางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากบันทึกภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องนาน ๆ จะถ่ายติดหางที่ยาวออกมา
ดาวหาง C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) หรือ ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ค้นพบครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 โดยนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวจื่อจินซาน (紫金山天文台) สาธารณรัฐประชาชนจีน และระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ประเทศแอฟริกาใต้ นักดาราศาสตร์ทั่วโลกได้เฝ้าติดตามสังเกตการณ์ และพบว่าความสว่างปรากฏมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนต่อมาได้กลายเป็นดาวหางอันโดดเด่นแห่งปี พ.ศ. 2567
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ