ฟัง 2 มุม เด็ก ม.6 ป่วยโรคพุ่มพวง ครูให้เต้นงานกีฬาวูบกลางสนาม รักษาตัว 11 วัน ก่อนสิ้นใจ พ่อแม่ร้องสื่อเยียวยาแค่ 7 แสน ขณะที่ทางโรงเรียนเสียใจ ยันช่วยเหลือดูแลมาตลอด

วันที่ 11 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบ นายเอล (นามสมมติ) อายุ 44 ปี และนางปุ้ย (นามสมมติ) อายุ 48 ปี สองสามีภรรยา หลังได้รับข้อมูลว่า น้องโฟกัส อายุ 17 ปี ลูกสาว นักเรียนชั้น ม.6/7 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี มีโรคประจำตัวแล้วเกิดวูบหมดสติกลางสนามในขณะเข้าร่วมกิจกรรมในพิธีปิดกีฬา รักษานาน 11 วัน และสิ้นใจในที่สุด เบื้องต้นเรียกร้องเงินเยียวยาจากต้นสังกัดโรงเรียนไป 12 ล้านบาท แต่ต้นสังกัดโรงเรียนยืนยันจะเยียวยาเพียง 7 แสนบาท

ทั้งนี้ พ่อแม่น้องโฟกัสได้นำหลักฐานการแชทสนทนาในกลุ่มไลน์กีฬานักแสดงกีฬา มีข้อความเขียนว่า "แจ้งนักเรียนทุกคน หลังจากวันนี้ไป รายชื่อตามสรุปตามทีมแล้ว ใครจะขาดลาหาย จะตัดชื่อออก ถ้าจะลาป่วยกระทันหัน ให้แจ้งครูที่ดูแลทีมของตนเอง ครูจะได้เช็ค ไม่ต้องแจ้งมานี้นะคะ แต่ละทีมย่อย จะมีครูดูแลตามที่แจ้งไป"

นอกจากนี้มีสตอรี่เฟซบุ๊กของน้อง ที่น้องเขียนว่า หมดไฟปวดตัวมาก วันนี้ฉันจะไหวไหม พร้อมกับคลิปวิดีโอในวันเกิดเหตุที่น้องเป็นลมกลางสนาม แต่ก็ยังมีการแสดงเต้นต่อ แล้วมีคนเข้าไปอุ้มน้องออกจากสนามไป

...

สามีภรรยาร่วมกันให้ข้อมูลว่า น้องโฟกัสเป็นลูกสาวคนเดียว ลูกป่วยโรคพุ่มพวงตอนอายุ 6 ขวบ เหตุการณ์ที่ลูกต้องป่วยหนักและเสียชีวิต ไม่เคยได้รับแจ้งจากโรงเรียนว่าจะให้ลูกไปทำกิจกรรมอะไร มีเพียงลูกสาวมาเล่าให้ฟัง ตั้งแต่ตอนแรกว่าจะได้หยุดเรียน แต่วันต่อมาบอกว่าไม่ได้หยุดแล้ว เพราะครูจะให้ไปทำกิจกรรมเป็นสตาฟ โดยเลือกเด็กที่ป่วยมีโรคประจำตัวไปทำกิจกรรมที่เป็นงานสบาย ไม่ต้องไปเป็นนักกีฬาหรือนักแสดง จึงได้ไปพบครูที่โรงเรียน และบอกครูว่าลูกกำลังป่วย

โดยครูบอกให้ไปติดต่อกับครูดูแลสตาฟเอง หรือให้น้องไปบอกครูที่เป็นสตาฟว่าน้องป่วย ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นครูสตาฟ น้องไปถามครูในไลน์กลุ่มขอเบอร์ครูสตาฟ แต่ครูไม่สนใจจะตอบน้อง แล้วตอนแรกน้องไปเป็นสตาฟก่อน 1 สัปดาห์ ทำหน้าที่วิ่งบนสแตนด์ เสิร์ฟข้าว-น้ำทั้งวัน บางวันเลิก 3 ทุ่ม น่าจะทำให้น้องเหนื่อยสะสม ก่อนวันเกิดเหตุ 3 วันน้องต้องไปหาหมอตามนัด น้องก็แจ้งในไลน์กลุ่ม โดยถ่ายภาพใบนัดส่งไปยืนยัน ครูก็รับทราบแล้วบอกให้ไปหาหมอได้เลย หลังจากไปหาหมอก็กลับมาทำกิจกรรม วันนั้นกลุ่มนักแสดงเต้นไม่มา ครูจึงมาเอากลุ่มสตาฟไปเต้นแทน ก็ถามน้องว่าทำไหวไหม น้องบอกว่าไม่ทำครูก็ไม่ให้ผ่าน

วันเกิดเหตุทางโรงเรียนไม่ได้แจ้ง มีเพื่อนน้องเอาโทรศัพท์น้องโทรมาแจ้ง ว่าน้องล้มหมดสติถูกนำส่งโรงพยาบาล และต้องเข้าห้องไอซียู วันแรกหมอบอกเราว่าน้องหัวใจตีบ 3 เส้น ต้องรีบผ่าตัดด่วน และต่อให้ผ่าตัดก็ใช่ว่าน้องจะฟื้นหรือจะหาย ซึ่งอาจจะเสียชีวิตวันนั้นก็ได้ จากนั้นได้ผ่าตัดก็ยื้อน้องต่อไปได้อีก 11 วันก็เสียชีวิต

ระหว่างนั้นก็มีคณะครู อาจารย์จากโรงเรียนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเยี่ยมต่อเนื่อง โดยมี ผอ.สำนักฯ มาพูดพยายามปลอบใจว่า "แม่ภูมิใจนะ น้องเสียสละชีวิตเพื่อชาติ" ญาติพี่น้อง เพื่อนน้อง ที่นั่งอยู่ด้วยได้ยินทุกคน จากนั้นก็มาอีกหลายครั้งก็ยังจะพูดประโยคเดิม ก็อึ้งไม่คิดว่าจะพูดออกมาแบบนี้ จนครั้งสุดท้าย "พ่อน้อง" บอกว่าพอเถอะครับ อย่ามาพูดแบบนี้เลย

ทางโรงเรียนได้เยียวยาให้ครอบครัวเราในส่วนที่บอกว่าจะทำได้ โดยขออนุมัติท่านผู้ว่าฯ ในวงเงิน 7 แสนบาท จากที่เราเรียกร้องไป 12 ล้านบาท ซึ่งทางเราจะพึ่งศาลเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกต่อไป ที่ผ่านมาได้พบนายกเทศมนตรีนครอุดรธานีเฉพาะที่โรงพยาบาลและงานศพลูก แต่ไม่มีโอกาสได้คุยอะไร ก็บอกเพียงว่าไม่ทอดทิ้งจะช่วยจนถึงที่สุด ไม่ได้ไปแจ้งความ ทำได้เพียงไปลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานที่โรงพัก และร้องเรียนผ่านเพจฯ

...

ทั้งนี้ได้แต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องขอความเป็นธรรมแล้วเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา จากนั้นก็ยังไม่มีแผนจะทำอะไรต่อ โดยเรียกร้องเยียวยาเป็นเงิน 8 ล้านบาท ตามที่ทนายความคำนวณให้ ซึ่งในการรักษาพยาบาลน้องใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพ

“อยากฝากทางโรงเรียน หากจะนำเด็กมาทำกิจกรรม ให้ถามเด็กมีโรคประจำตัวไหม โรคอะไร ทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่พูดลอย ๆ ต้องมีรายละเอียด ในส่วนการจัดงานฝากเรื่องการรักษาความปลอดภัย ต้องช่วยเหลือดูแลอย่างทันท่วงที เพราะที่ทราบรถพยาบาลและเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่นอกสนาม คำว่าแพทย์สนามก็ควรจะอยู่ในสนาม เมื่อเกิดเหตุต้องประสานให้เร็วกว่านี้ จากที่ดูในคลิปการประสานงานช้ามาก โดยล้มในสนามก็นานกว่า 10 นาที แล้วต้องมารออยู่ข้างนอก แต่เขาบอกว่าน้องเป็นลมแดดเท่านั้น แต่แพทย์ลงความเห็นว่าน้องเส้นเลือดหัวใจตีบ ขาดอากาศหายใจ น้องเป็นลูกคนเดียว เขาบอกว่าอยากเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และอยากเปิดร้านกาแฟ

ด้าน ผอ.โรงเรียนดังกล่าว เปิดเผยว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ในพิธีปิดการแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตอุดรธานี ทางโรงเรียนปิดการเรียนการสอน มีนักเรียนไปแข่งขันกีฬาและไปช่วยงานจัดการแข่งขั้น โดยขอความร่วมมือจากนักเรียน ครูก็คัดนักเรียนไปช่วยงาน ซึ่งโรงเรียนรับมอบหมายจัดการแสดงพิธีเปิดและปิด โดยส่วนตัวไม่ทราบมาก่อนว่าน้องโฟกัส อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.6/7 ป่วยมีโรคประจำตัว (โรคพุ่มพวง หรือ SLE) ซึ่งผู้ปกครองแจ้งว่าได้บอกครูไปแล้ว

...

"ตอนเกิดเหตุช่วงบ่ายอากาศร้อน การแสดงเต้นผ่านไปราว 5 นาที คนรอบข้างก็คิดว่าน้องเป็นลมแดด ไม่รู้ว่ามีโรคประจำตัว ก็ได้เข้ามาช่วยนำส่ง รพ. ที่ผ่านมาโรงเรียนช่วยเหลือดูแลมาตลอด ตั้งแต่การนำส่ง รพ., ติดตามการตรวจรักษาจนกระทั่งเสียชีวิต รวมไปถึงการประกอบพิธีทางศาสนา ได้บอกกับผู้ปกครองเบื้องต้นไปว่า ในส่วนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พวกเราจะดูแลกัน เหตุที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมการเรียนการสอน, สนับสนุนการแข่งขันกีฬา และก็จะส่วนร่วมในกิจกรรม พร้อมแนะนำให้ผู้ปกครองทำหนังสือเรียกร้องมาที่เทศบาลนครอุดรธานี ซึ่งเป็นต้นสังกัดของโรงเรียน"

ผอ.โรงเรียน ตอบข้อซักถามด้วยว่า เทศบาลนครอุดรธานี ได้มาสอบข้อเท็จจริงเหตุที่เกิดขึ้น และได้ดำเนินการเยียวยาไปตามระเบียบราชการ ทราบว่าผู้ปกครองรับการเยียวยาไปแล้ว ล่าสุดได้คุยกับผู้ปกครองวันจันทร์ เรื่องทำบุญครบ 100 วันให้น้อง ที่โรงเรียนจะไปร่วมทำบุญ เสมือนเป็นญาติพี่น้อง ผู้ปกครองแจ้งว่าจะทำบุญที่บ้าน วันที่ 18 ตุลาคมที่จะถึงนี้ นิมนต์พระ 5 รูป เป็นการพูดคุยกันปกติ ก็ได้เรียนผู้บริหารเทศบาลนครอุดรธานี และครูไปแล้ว

...

ผอ.โรงเรียน ตอบข้อซักถามเรื่องที่ออกมาว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์เกิดขึ้น ซึ่งมีมาโดยตลอดตั้งแต่เกิดเหตุจนทุกวันนี้ มีความคิดเรื่องเยียวยาเหตุที่เกิดขึ้น และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ เราได้พูดคุยกันมาตลอด รวมทั้งการนำชื่อน้องมาเป็นชื่อห้องพยาบาล ให้เราได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการเรียกร้องเยียวยาเพิ่มนั้น เราก็จะดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง ผู้ปกครองก็มีสิทธิเรียกร้อง ก็ให้เขาดำเนินการตามที่เห็นควร เราก็รับผิดชอบไปตามเหตุที่เกิดขึ้น ไม่ติดใจที่ผู้ปกครองออกมาเรียกร้อง

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้บทเรียนเยอะมาก เรื่องการดูแลเด็กนักเรียน ต้องสอบถามข้อมูลเด็กที่จะเข้ามาเรียน จะต้องเป็นข้อเท็จจริงจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาชีวิต ครอบครัว และสุขภาพ หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ได้ปูพรมสอบถามข้อมูลสุขภาพเด็กใหม่ทั้งหมดเป็นประเด็นแรก ประเด็นต่อไปคือการสื่อสารรายละเอียดมากขึ้น ส่วนตัวตนเองเสียใจมาก คิดแม้กระทั่งว่าจะบวชให้ลูกศิษย์ ในช่วงที่น้องรับการรักษาอยู่.