มทส. วางมาตรการป้องกันเข้ม หลังเกิดกรณีนักศึกษาถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้กักตัวเรียกค่าไถ่หลายราย ยันระบบรักษาข้อมูลนักศึกษาแน่นหนา ไม่มีหลุดไปถึงมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์แน่นอน

จากกรณีมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรศัพท์มาหาแล้วใช้กลอุบายต่าง ๆ หลอกลวงให้นักศึกษาโอนเงินไปให้ โดยช่วง 2 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงเดือนกันยายน 2567 มีนักศึกษาหลงเป็นเหยื่อกว่า 200 ราย สูญเสียเงินไปกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีนักศึกษาบางราย ถูกมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งว่านักศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงิน เว็บพนันออนไลน์ และเว็บลามกอนาจาร ก่อนที่จะหลอกให้นักศึกษาปลีกตัวไปเช่าหอพักกักตัว เพื่อเรียกเงินค่าไถ่จากผู้ปกครอง บางรายหลงโอนเงินให้มิจฉาชีพไปมากถึง 5 แสนบาท ซึ่งทำให้สังคมตื่นตกใจเป็นอย่างมาก ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น (อ่านข่าว : แฉกลโกง แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกนักศึกษากักตัวเรียกค่าไถ่ เหยื่อกว่า 200 ราย)

...

ล่าสุด วันนี้ (11 ตุลาคม 2567) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่หอพักนักศึกษาของ มทส. ซึ่งเป็นหอใน โดยมีนายอรรถวุฒิ ภูคำวงษ์ ที่ปรึกษาหอพักที่นักศึกษารายหนึ่งตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้พาเข้าไปดูมาตรการรักษาความปลอดภัยของหอพัก หลังจากเกิดเหตุ โดยมีการติดป้ายประกาศแจ้งเตือนภัยไว้ในหอพักหลายจุด ทั้งบริเวณหน้าหอพัก ในห้องน้ำ และบริเวณห้องโถงอ่านหนังสือ นอกจากนี้หอพักยังมีเจ้าหน้าที่ รปภ.คอยดูแลความสงบเรียบร้อยตลอด 24 ชั่วโมง มีกล้องวงจรปิดติดไว้หลายจุด มีห้องอาจารย์ที่ปรึกษาหอพัก และมีสมุดลงชื่อเข้า-ออก หอพัก ซึ่งนักศึกษาทุกคนที่เข้า-ออก ต้องลงชื่อ ลงเวลาไว้อย่างชัดเจน พร้อมกันนี้ยังได้มีการแจ้งเตือนไปยังเพจเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัย และกลุ่มไลน์ต่างๆ ของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตือนภัยไม่ให้นักศึกษาตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซ้ำอีก

ด้าน ผศ.ดร.หนึ่งหทัย ขอผลกลาง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มทส. กล่าวว่า กรณีมีแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกนักศึกษา มทส.มากถึง 200 คนนั้น เป็นข้อมูลที่ทาง มทส.ร่วมกับ สภ.โพธิ์กลาง ได้รวบรวมมาในช่วง 2 เดือนระหว่าง ส.ค.-ก.ย.67 ซึ่งมีหลายกรณี เช่น การหลอกให้โอนเงินซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ของ, การข่มขู่ให้กลัวแล้วโอนเงิน, กำลังจะถูกหลอกแล้วรู้ตัวไปแจ้งความไว้ ส่วนกรณีถูกหลอกให้ไปเช่าห้องกักตัวเพื่อเรียกเงินค่าไถ่กับผู้ปกครองนั้น มีอยู่ประมาณ 10 รายเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดมีตั้งแต่เสียเงินไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงหลายแสนบาท ดังนั้นทำให้ทาง มทส. ต้องออกมาแจ้งข่าวเพื่อเตือนภัยต่อสังคม และเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจกับนักศึกษาของ มทส. รวมทั้งติดป้ายแจ้งเตือนไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้นักศึกษาตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซ้ำอีก

นอกจากนี้ หลังเกิดเหตุทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โพธิ์กลาง ก็ได้มาพูดคุยกับทาง มทส.ว่าอาจจะเกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากมหาวิทยาลัยหรือไม่ ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ IT ตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลนักศึกษาทั้งระบบ ก็ไม่พบการว่ามีแฮกเกอร์เจาะระบบเข้ามาล้วงข้อมูลแต่อย่างใด ระบบมีการป้องกันอย่างแน่นหนา

ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากนักศึกษาไปให้ข้อมูลที่อื่นไว้ เพราะจากการสอบถามนักศึกษาบางราย ที่ตกเป็นเหยื่อ พบว่ามิจฉาชีพรู้กระทั่งชื่อตา ยาย และความชอบส่วนตัว ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการเก็บข้อมูลเหล่านี้เลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุเกิดขึ้นมาแล้ว ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้มีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยประสานเรื่องการแจ้งความ และติดตามความคืบหน้าคดี นอกจากนี้ยังมีกองทุนกู้ยืมฉุกเฉิน และทุนอาหารกลางวัน ไว้ช่วยเหลือนักศึกษาที่ได้รับความเดือดร้อนไว้ทุกราย อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่จิตแพทย์ เพื่อช่วยเหลือให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตให้กับนักศึกษาทุกคนด้วย

...

ผศ.ดร.หนึ่งหทัย กล่าวอีกว่า จากการสอบถามนักศึกษาที่ตกเป็นเหยื่อ ทราบว่านักศึกษาทุกคนรู้ดีว่าพฤติกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีลักษณะเช่นไร แต่ทั้งที่รู้ก็ยังตกเป็นเหยื่อ เนื่องจากไปหลงพูดคุยและถูกมิจฉาชีพใช้ข้อมูลส่วนบุคคลมาให้ดูน่าเชื่อถือ ประกอบกับใช้จิตวิทยาขั้นสูงพูดคุยโน้มน้าวจิตใจ ให้เกิดความหวาดกลัว จนกระทั่งตกอยู่ในภาวะหลงลืมสิ่งที่เคยรับรู้ข่าวสารมาไปทั้งหมด และกว่าจะรู้ตัวก็ถูกหลอกให้โอนเงิน สูญเสียเงินไปจำนวนมากแล้ว

ดังนั้นจึงอยากฝากเตือนไปยังนักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปว่า อย่าเพิ่งมั่นใจในตัวเองว่าจะสามารถรับมือกับการโน้มน้าวจิตใจของมิจฉาชีพนัก บางคนอาจจะอยากลองคุยกับมิจฉาชีพดู แต่สุดท้ายก็ต้องตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่อยากแนะนำคือถ้ามีอะไรที่สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพ อย่าไปรับสาย หรือไปหลงพูดคุยเด็ดขาด ให้รีบตัดสายทิ้งไปทันทีจะดีที่สุด.