วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยธรรมะเรื่อง “เดินหน้าอย่างไร ในสังคมแบ่งขั้ว” กันนะครับ ผมเพิ่งได้รับหนังสือชื่อเดียวกันนี้จาก คุณอานิก อัมระนันทน์ คณะทำงานชมรมนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง หรือ “ทุนคิงส์” ซึ่งสรุปมาจากการแสดงธรรมเรื่อง Navigating a Polarised Society “เดินหน้าอย่างไร ในสังคมแบ่งขั้ว” ของ พระราชพุทธิวรคุณ (อมโรภิกขุ หรือ พระอาจารย์อมโร เจ้าอาวาสวัดอมราวดี ประเทศอังกฤษ) เป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับสังคมไทยที่มีแต่ความแตกแยกในวันนี้ ก็เอามาฝากกันครับ
ท่านอมโร เริ่มต้นด้วยการพิจารณาหัวข้อ “เดินหน้าอย่างไรในสังคมแบ่งขั้ว” ว่า มนุษย์เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับ “การแบ่งขั้ว” หลายอย่าง เช่น เหนือและใต้ ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ แม้ในโลกของพระพุทธศาสนาก็ยังมีการแบ่งขั้วอย่าง เถรวาท-มหายาน หรือ ธรรมยุต-มหานิกาย ในสังคมก็มีการแบ่งขั้ว เช่น คนรวย-คนจน คนชนบท-คนเมืองหลวง คนแก่-คนหนุ่มสาว คำถามก็คือ เราจะหาจุดร่วมกันได้อย่างไร
ท่านอาจารย์อมโร บอกว่า ปัญหาไม่ใช่เพราะเรามีมุมมองที่เฉพาะเจาะจง แต่ปัญหาคือการยึดมั่นถือมั่น เป็นสาเหตุของความยุ่งยากและความทุกข์ เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา คนเรามีมุมมองของตัวเองได้ สิ่งใดจะดีสำหรับครอบครัว สิ่งใดจะดีต่อการปฏิบัติทางด้านจิตใจ ปัญหาจึงไม่ใช่มุมมองที่เราแต่ละคนมีในฐานะปัจเจกบุคคล แต่ปัญหาเริ่มต้นเมื่อเราคิดว่า “ฉันถูก คุณผิด” ในคำสอนของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเรากำลังคิดคำว่า “ฉันถูก คุณผิด” ก็ปักธงแดงไว้ได้เลยว่า ฉันกำลังยึดติดกับบางสิ่ง ฉันกำลังยึดมั่นถือมั่นกับบางอย่าง ฉันควรจะถอยหนึ่งก้าว แล้วย้อนกลับไปดูสถานการณ์อีกครั้ง
พระพุทธเจ้า ตรัสว่า การยึดมั่นถือมั่นมี 4 ประเภท
...
ประเภทแรก ทิฏฐปาทาน คือ ความยึดมั่นในมุมมองและความคิดเห็น ดังนั้น บุคคลผู้เจริญเมตตาจิต (เมตตาจิตคือการแผ่เมตตาต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย) ย่อมไม่ตกไปในมิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้มีศีลที่ถึงพร้อมด้วยการรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมกำจัดความยินดีในกามทั้งหลายได้
ประเภทที่สอง สีลัพพตุปาทาน เป็นเรื่อง การยึดมั่นในธรรมเนียมปฏิบัติที่เรามีอยู่ ข้อนี้ “หลวงพ่อชา” ได้ขยายความรวมไปถึง ธรรมเนียมปฏิบัติที่มีอยู่ในสังคม อาทิ การแต่งกายที่เหมาะสมเป็นอย่างไร เงินมีค่าแค่ไหน “หลวงพ่อชา” ยกตัวอย่างเรื่องของเงินที่เราเอากระดาษแผ่นหนึ่งมาพิมพ์ลายหมึกลงไปแล้วบอกว่า นี่คือธนบัตร 10 บาท พอเราพิมพ์หมึกอีกรูปหนึ่งลงไปก็บอกว่า นี่คือธนบัตร 100 บาท เพียงเพราะลายหมึกก็สามารถกำหนดว่า กระดาษแผ่นนี้มีมูลค่ามากกว่าอีกแผ่นหนึ่งถึง 10 เท่า นี่คือ สีลัพพตุปาทาน เป็นธรรมเนียมหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมาแล้วก็ยึดติดกับมัน
ประเภทที่สาม กามุปาทาน คือ การยึดติดกับความสุขทางประสาทสัมผัสหรือกามคุณ นี่คือสิ่งที่ฉันชอบ ฉะนั้นมันจึงเป็นของดี นี่คือสิ่งที่ฉันเห็นว่าสวยงาม มันจึงเป็นของสวยงาม
ประเภทที่สี่ อัตตวาทุปาทาน คือ การยึดติดกับความเป็นตน และความภูมิใจในตน เช่น ฉันเป็นอย่างนี้ ฉันเป็นพ่อ ฉันเป็นอาจารย์ นี่คือการยึดมั่นถือมั่นอีกประการหนึ่ง
พระพุทธเจ้า ตรัสว่า การยึดมั่นในความคิดและความหมาย ทำให้คนเราเกิดการโต้เถียงและขัดแย้งต่อกัน นี่คือเหตุที่ทำให้เราต่อสู้กัน นี่คือที่มาของความขัดแย้งทั้งปวงในโลก หากเราตระหนักรู้ขึ้นมาว่า เราหลงอยู่ในความคิดนี้ได้อย่างไร ทางออกหนึ่งคือการตามรอยกลับไปสู่จุดเริ่มต้น ยิ่งย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของความคิดได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นความเป็นตัวตนน้อยลงมากเท่านั้น มันเป็นเพียง การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรู้รส และการสัมผัสเท่านั้น ไม่มีอะไรที่เป็น “ตัวกูของกู” ที่ยึดติดเลย เมื่อไม่มีตัวกูของกูให้ยึดติด ความขัดแย้งทั้งหลายก็ไม่มี ประโยคหลังผมเขียนต่อเอง อมิตพุทธ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม