จากงานเสวนาเรื่อง “สถานการณ์โควิด-19 และความจำเป็นในการป้องกันของประชากรกลุ่มเสี่ยง” รศ.นพ.ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอัตราสูง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 7 แสนคน ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 48,000 คน และเสียชีวิต 211 คน ถือว่าเป็นสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้เสียชีวิตนั้น ร้อยละ 80-90 เป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงกลุ่ม 608 และเมื่อป่วยเป็นโควิด-19 จะป่วยหนักสูงขึ้น 2-3 เท่า โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น 2-10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้มีอายุน้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่ได้มีโรคร่วมในช่วงปลายปีนี้ต้องป้องกันตัวเองทั้งสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีคนอยู่แออัด และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเตรียมไว้

ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยืนยันว่าวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไปนานแล้ว ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่อาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ร้อยละ 60-70 สำหรับประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิดสำหรับกลุ่ม 608 โดยแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะถ้าเคยฉีดวัคซีนเข็มก่อนหน้ามาเกิน 1 ปี หรือติดเชื้อครั้งสุดท้ายมานานกว่า 3-6 เดือน และไม่ขึ้นกับว่าเคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วจำนวนเท่าใด

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ตัวแทนสมาคมโรคเพื่อนไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโควิด-19 ด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและประชาชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งยังมีความจำเป็น และอยากให้ภาครัฐเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ขณะนี้มีเพียงเพจไทยรู้สู้โควิดที่ให้ความสนใจติดตามและเสนอข้อมูลโควิด จึงอยากให้พวกเราติดตามเพื่อที่จะได้เป็นแนวทางมองภาพของโควิด-19 ในประเทศ.

...