การจัดอันดับ ดัชนีมหาเศรษฐีของโลก โดย Bloomberg ยกให้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta อยู่ในอันดับสองมหาเศรษฐีโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 206,200 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.86 ล้านล้านบาท ตามด้วย เจฟฟ์ เบโซส์ ซีอีโอ Amazon ที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 205,100 ล้านเหรียญ หรือ 6.82 ล้านล้านบาท ส่วนที่คงอันดับ 1 อีลอน มัสก์ ซีอีโอ Tesla ที่มีทรัพย์สินทิ้งห่างอันดับ 2 อยู่ราวๆ 50,000 ล้านเหรียญ หรือ 1.6 ล้านล้านบาท

ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินที่เป็นมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ Meta ปิดตลาดสูงสุดที่ 582.77 เหรียญ หรือหุ้นละ 19,393 ล้านบาท ทำให้หุ้นที่อยู่ในมือของ ซักเคอร์ เบิร์ก เพียง 13% เพิ่มมูลค่าอีกมหาศาล นอกจากนี้ยังได้ผลประโยชน์ จากการขายโฆษณาใน Facebook ถึงในปี 2022 รายได้จะลดลงประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 332,780 ล้านบาท แต่ก็สามารถชดเชยด้วยการลดจำนวนพนักงานเพื่อเป็นการลดต้นทุน จนทำให้ในปี 2023 มีรายได้เติบโตที่ 11% โดยนำเงินไปลงทุนในระบบ AI ทำงานแทนพนักงานที่ลดลงไปกว่า 2 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ เพื่อขอมติผู้ถือหุ้น ทำธุรกรรมปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งที่ประชุมร้อยละ 99 เห็นด้วยกับการขออนุมัติ การทำธุรกรรมควบรวมระหว่าง กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี กับ อินทัช โฮลดิ้งส์ การซื้อหลักทรัพย์ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ.ไทยคม อนุมัติการลดทุนจดทะเบียนของบริษัท โดยการตัดหุ้นจดทะเบียนที่ยังไม่นำออกจำหน่าย และอนุมัติแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ เพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนจดทะเบียน

ทิศทางการลงทุนยังเน้นด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานสะอาด ที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานร้อยละ 80 หลังจากการควบรวมแล้วมาดูผลกำไรจากธุรกิจใน กลุ่มโทรคมนาคม รวมถึงการลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบคลาวด์

...

การควบรวมภายใต้ผลประโยชน์จากธุรกิจจำนวนมาก ดังกล่าว สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กัลฟ์ ฝากเตือนไปยังผู้ถือหุ้น ระมัดระวังเรื่องข่าวปลอม หุ้นปลอม และขอให้มีการซื้อขายผ่านกระบวนการทางการที่บริษัทได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. ซึ่งการซื้อขายหุ้นจะต้องจ่ายภาษี 25% ตามกฎหมาย

หลังการทำธุรกรรมและปรับโครงสร้างแล้ว การปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นแบบ NewCo ในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคมที่มีความมั่นคงอยู่แล้วจะทำให้สภาพคล่องของหุ้นดีขึ้นเป็นประโยชน์กับตลาดทุนในประเทศ

การบริหารที่มุ่งการเติบโตของ ธุรกิจที่ยั่งยืน เป็นแนวทางของธุรกิจแนวใหม่ที่ต้องเน้น ความสมดุล ของทุกมิติ และการบริหารธุรกิจให้เกิดความสมดุล ทั้งการลงทุนและผลประโยชน์ตอบแทน และการสร้างมูลค่าของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ เท่ากับเป็นการดึงเม็ดเงินลงทุนและสร้างมูลค่าการเติบโตของธุรกิจในอนาคตที่สมดุลและยั่งยืน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม