โลกก็เครียด บ้านเมืองเราก็เครียด ครั้นผมจะค้นเรื่องเก่าๆ ที่เครียดๆ ให้อ่าน...ก็คิดว่าน่าจะเครียดกันไปใหญ่ บางวันอย่างวันนี้ ผมก็กลับหลังหัน ตั้งใจค้นหาเรื่องที่อ่านแล้วยิ้มได้

เปิดสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.2529 เล่ม 7 ถึงหน้า 2930-2931 เจอสองเรื่องอยู่เรียงกัน

เรื่องแรก ยันต์เรียกใจคน อีกสองชื่อเรียกยันต์นี้ คือ ยันต์กันร้อยแปด และชื่อยันต์หุ้มกลอง อ่านชื่อแล้วก็คงพอจะเข้าใจ คงเรียกใจกันได้ผ่านเสียงกลอง

คนเก่าภาคใต้หลายคนรู้ สามชื่อนี้เป็นยันต์ชนิดหนึ่ง ที่เขียนใส่ไว้ในกลองหนังตะลุงหรือกลองโนรา เพื่อให้กลองธรรมดานั้นเกิดความขลัง

ในการทำยันต์เรียกใจคน ผู้หุ้มกลองหรือบางครั้งก็ถึงมือหมอไสยศาสตร์ เขียนยันต์ลงบนแผ่นผ้าขาวสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้างด้านละ 1 คืบ

เสร็จแล้วพับผ้าให้เหลือเล็กที่สุด แล้วใช้ด้ายขาวถักหัุมยันต์ที่พับนั้นให้เป็นก้อนกลมแล้วนำไปใส่ในกลอง

ก่อนจะใส่ผ้ายันต์ลงไปให้ว่าคาถาดังนี้ นะอุด โมอัด พุทยัด ปากบอก ธาไม่ออก ยะมหาอุด”

เมื่อหุ้มกลองเสร็จแล้วนำไปตี เชื่อกันว่านายหนังตะลุงหรือนายโรงโนรา นำกลองไปตีที่ใดจะทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมหนังตะลุงโนราคณะของตน ไม่เพียงเรียกใจคนได้

อีกด้านยันต์เดียวกัน ยังสามารถป้องกันการทำคุณไสยทุกชนิดของฝ่ายตรงข้าม

รู้ทั้งเรื่องและทั้งวิธีทำยันต์เรียกใจคน ด้วยวิธีที่ง่ายๆอย่างนี้แล้วไม่ว่านายหนังตะลุง นายโรงโนรา หรือเอ้า!กระทั่งนักการเมืองที่อยากได้คะแนนหัวใจคน...ก็คงยิ้มได้ แต่แค่ยิ้มน้อยๆก็น่าจะพอ

ส่วนว่าจะศรัทธาถึงขั้นลองทำหรือไม่ ก็แล้วแต่ใจคนที่ไม่เหมือนกัน

เรื่องที่สอง ไม่ใช่เรื่องจริงจัง เป็นแค่นิทานเรื่องยันต์ไล่ยุง

เล่ากันในภาคใต้หลายจังหวัด ผู้เล่าเรื่องนี้ ชื่อ นายสุรชัย สิริปัญญาวรคุณ บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 1 ตำบลนบพิตำ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช สรุปเรื่องได้ดังนี้

...

ชาวจีนคนหนึ่ง ชื่อเต้าหยิ่น เที่ยวคุยอวดกับชาวบ้านร้านตลาดว่า แกมียันต์วิเศษ เขียนใส่ผืนผ้าแล้วเอาไปใส่กรอบแขวนไว้บนฝาบ้านบ้านนั้นจะไม่มียุงเลย

คนส่วนใหญ่ฟังนายเต้าหยิ่นคุยแล้วก็ไม่เชื่อ หลายคนหัวเราะใส่หน้า

แต่ก็มีชาวบ้านคนหนึ่งได้ข่าวแล้วเชื่อ อุตส่าห์เดินทางไกล ดั้นด้นไปหาเต้าหยิ่นถึงบ้าน

แน่นอน เต้าหยิ่น ก็ให้

ไม่กี่วันต่อมาชาวบ้านคนนั้นก็ถือยันต์ผืนนั้นกลับมาคืนให้นายเต้าหยิ่นถึงบ้าน แล้วบอกอดทนนอนนอกมุ้ง ทดสอบยันต์กันยุงอยู่หลายคืนทุกคืนยุงก็กัดเหมือนๆเดิม

เขาถามตามประสาซื่อ มียันต์ไล่ยุงแล้ว ทำไมยุงจึงยังกัดอยู่เล่า?

เต้าหยิ่นย้อนถาม “เอายันต์ไปแขวนไว้ที่ไหน” คำตอบที่ได้ “แขวนไว้ข้างฝาบ้าน”

“ทำงั้นได้ไง?” เต้าหยิ่นหัวเราะแล้วว่า “คุณเอายันต์ไปแขวนไว้ไม่ถูกที่ ยันต์กันยุงนี้หากจะใช้ให้ได้ผลเต็มร้อย ต้องเอาไปแขวนไว้ในมุ้ง”

บอกแล้วไง?เรื่องนี้ เป็นนิทาน อ่านแล้ว ยิ้มใหญ่ ทั้งยิ้มได้แบบเต็มปากเสียด้วย

เป็นคนอยู่ในโลกวันนี้ หากมีเรื่องให้ยิ้มออกได้...สักครั้ง ก็ถือเป็นกุศลอันประเสริฐแล้ว

ในเมืองไทย คนอีสาน คนใต้ คนเหนือเจอภัยน้ำท่วมทุกข์กันทั่วหน้า เหนือหนักขนาดช้างจมน้ำตาย

คนกรุงฯก็เถอะน่า! เตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ดี วันนี้ถ้ามีเรื่องให้พอยิ้มได้ก็ยิ้มไว้ จะแน่ใจได้ยังไง พรุ่งนี้น้ำที่รอการระบาย จะไม่มาถึงตัว.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม