9 ตุลาคม 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้แทนกรมชลประทาน เข้ารับรางวัลสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2567 ระดับดีเด่น จากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้เดินทางมาเป็นประธานมอบรางวัลในครั้งนี้ โดยมีนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ และนายวิเชียร เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
สำหรับการมอบรางวัลสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2567 (EIA Monitoring Awards 2024) ภายใต้แนวคิด “EIA For a Sustainable FUTURE” จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างแรงจูงใจในการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสถานประกอบการที่มีการปฏิบัติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งในปีนี้ กรมชลประทานได้ส่งโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา (โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) จังหวัดปราจีนบุรี เข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว และได้รับรางวัลสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2567 ระดับดีเด่น โดยมีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น จำนวน 65 ราย ได้แก่ ประเภทโครงการหน่วยงานรัฐ จำนวน 14 รางวัล ประเภทโครงการด้านการทำเหมืองแร่ จำนวน 20 รางวัล ประเภทโครงการด้านการพัฒนาปิโตรเลียม จำนวน 9 รางวัล และประเภทโครงการด้านพลังงาน จำนวน 22 รางวัล
ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี (โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) เป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ มีความจุที่ระดับเก็บกัก 295 ล้าน ลบ.ม. เข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ก่อสร้างโครงการ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2560 เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ประมาณ 111,300 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 45,000 ไร่ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง รวมทั้งรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม น้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและการประปา รวมทั้งเป็นแนวกันชนป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา ทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ได้อีกด้วย
ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 19 หน่วยงาน ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) จำนวน 47 แผนงาน อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน (แผนงานปี 2554 - 2569) โดยปี 2567 เป็นปีที่ 14 แล้ว ตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้มีการปลูกป่าทดแทน เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและชะลอความเร็วของน้ำ ทั้งแบบถาวร กึ่งถาวร และแบบผสมผสาน รวมทั้งได้จัดตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ มีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อป้องกันการบุกรุกและเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติด้านป่าไม้และสัตว์ป่าในบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำฯ และอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนอาชีพให้แก่ราษฎรบริเวณรอบโครงการฯ ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาส่งเสริมด้านการเกษตรแบบบูรณาการ มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเศรษฐกิจตามความต้องการของเกษตรกร เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมบูรณ์อย่างยั่งยืน