ครั้งล่า! ก็หลายปีเต็มที เจ้าถิ่นเขาก็พาไปพิพิธภัณฑ์จ่าทวี ในสารพันกับดักสัตว์ไทยประดิษฐ์ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ผมจำได้แม่น ชอบกรงตาแมวมากที่สุด

ชื่อกรงมีคำว่าแมว แต่ความจริงคือกรงดักหนู พรศิริ บูรณเขตต์ เขียนไว้ในหนังสือ “กับดักวิถี” (มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ค.2550) เป็นกล่องไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 39 ซม. ยาว 50 ซม. สูง 20 ซม. ด้านบนทำฝาไม้ปิด โดยทำรางเลื่อนดึงเข้าดึงออกได้

กล่องไม่มีฝากั้น แบ่งเป็นสองห้อง คือ ห้องด้านหน้า (กลไกดักหนู) และห้องด้านใน (ห้องกักหนู)

ห้องด้านหน้ามีทางเข้า เล็กกว่าห้องด้านใน เจาะช่องปากทางเข้าเป็น 2 ช่องกลมๆ ภายในห้องด้านหน้ากั้นห้องแบ่งครึ่งอีก เพื่อกักหนูที่เดินผ่านช่องกลมเข้ามา

ไม้แผ่นหน้าที่เจาะวงกลมต้องทำ 2 ชิ้น ตีคู่กันมีช่องระหว่างกัน ใช้เป็นที่วางไม้วงกลม ซึ่งทำหน้าที่เหมือนฝาประตู ทำงานสัมพันธ์กับกระดานหก เพราะเชื่อมโยงอยู่กับกระดานหก โดยจะกลิ้งไปอยู่กับด้านที่ต่ำ

ส่วนห้องด้านใน เป็นที่ใส่เหยื่อล่อหนู และกักขังหนู

ข้างฝาห้องส่วนนี้ เจาะเหมือนช่องหน้าต่าง ใช้เหล็กเส้นเล็กกั้นทำเป็นซี่กรง เมื่อใส่เหยื่อทำให้หนูได้กลิ่นชัดเจน ช่องหน้าต่างนี้ยังเป็นช่องระบายลมเมื่อหนูเข้าไปติดอยู่ด้วย

ระหว่างห้องด้านหน้าและห้องด้านในมีฝากั้น เจาะช่องเป็นประตูเล็กๆ ประตูทำเป็นซี่กรง วางประกบกับฝากั้นของห้องด้านใน เมื่อหนูผ่านประตูซี่กรงเข้าไปห้องด้านในแล้ว จะดันประตูออกมาไม่ได้ เพราะซี่กรงใหญ่กว่า

พูดง่ายๆประตูซี่กรงทำหน้าที่คล้ายงา ที่พบในเครื่องมือจับสัตว์ทั่วไป สัตว์ผ่านเข้าไปแล้วจะกลับออกไม่ได้

ธรรมชาติหนูจะเดินเลาะผนัง หนูบ้านจะเดินเลาะตามฝาบ้าน หนูนาจะเดินเลาะตามคันนา หนูจะเดินตามทางซ้ำๆจนเกิดเป็นแนวเป็นทาง

...

ทางตามทุ่งนาเรียกว่าทางเตียน หนูจะเดินเลาะซ้ายเลาะขวาไป คล้ายเดินสลับฟันปลา เมื่อชาวบ้านตั้งใจดักหนูนา จึงนำเครื่องมือดักวางข้างๆทาง ไม่นิยมวางปลายทาง หนูเลาะเล็มอาหารตามข้างทาง ก็จะเข้าไปในเครื่องมือ

กรงตาแมวนอกจากกำจัดหนูบ้าน ชาวบ้านบางคนยังใช้ดักหนูนา ได้หนูเป็นๆเป็นเนื้อสดทำอาหาร

นอกจากวางข้างทางเตียน ยังต้องใช้ข้าวเปลือก ข้าวสาร ถั่ว หรือเศษอาหารโรยไว้หน้าปากทางเข้าในห้องด้านใน เมื่อหนูเดินผ่านช่องวงกลมเข้าไปเหยียบไม้กระดานหก กระดานฝั่งนั้นจะต่ำลงทำให้แผ่นไม้กลม

กลิ้งลงมาเป็นประตูกักขังหนูไว้

หนูจะเดินวนไปวนมา ใช้หัวดันตามผนังห้อง และจะเดินไปที่ประตูซี่กรงที่ “อ่อยเหยื่อ” ไว้ โดยจะดันประตูเข้าไปได้ แต่ไม่อาจดันออกมาได้ โดยธรรมชาติหนูจะส่งเสียงร้อง มีผลให้หนูตัวอื่นตามเข้ามาเรื่อยๆ

จนคนเห็นว่าได้หนู 4–5 ตัวเต็มห้องกัก จึงเลิกดัก เพราะได้เนื้อพอเพียงสำหรับแกงหม้อหนึ่งแล้ว

กรงตาแมวจับหนูเป็นๆได้ครั้งละหลายตัว ขณะที่กับดักอื่นได้ครั้งละตัว หากใช้ในบ้านเรือนก็สามารถทำช่องวงกลมทางเข้าค่อนข้างใหญ่ เพื่อดักหนูตัวใหญ่

แต่ถ้าใช้ตามทุ่งนาเพื่อดักหนูกิน มักทำช่องวงกลมขนาดไม่ใหญ่ เพื่อไม่ให้หนูตัวใหญ่ซึ่งเป็นหนูแก่เกินวัย เนื้อก็เหนียว หนังก็เหนียวเกินที่จะแกงกิน...เข้าไปได้

หลับตามโนถึงกรงตาแมว...ที่คนออกแบบไว้เลือกจับหนูหนุ่มสาวเนื้ออ่อนๆหรือหนูแก่หนังเหนียวจำนวนน้อยมากแค่ไหนก็ได้ แล้วผมก็อึ้งทึ่ง ถึงขั้นอัศจรรย์ใจ ยกนิ้วให้ภูมิปัญญาโบราณ

ระดับภูมิปัญญาเดียวกัน หากจะใช้จับคนด้วยกัน...ก็คงไม่ยาก คนนิสัยเหมือนหนู ตะกละกินไม่เลือกหน้า กินกระทั่งบ้านเมือง นี่ผมก็เพิ่งได้ข่าว เขาว่ากันว่ากลางตุลาฯ หนูตะกละ ไม่รู้ว่าติดใจเหยื่ออะไร กำลังจะเข้ากับดักกรงตาแมว.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม