ต้นเหตุเพลิงไหม้รถบัสทัศน ศึกษา “คร่าชีวิตครู–นักเรียน” กำลังมุ่งการสืบสวนไปในประเด็นดัดแปลงติดตั้ง แก๊สเอ็นจีวีเกินกว่าที่จดทะเบียน 11 ถัง ทำให้เกิดรั่วไหลเป็นเชื้อเพลิงลุกลามอย่างรวดเร็วจน “รมว.คมนาคม” ตั้ง คกก.พิจารณามาตรการป้องกันการให้บริการขนส่งโดยสารสาธารณะรายงานใน 15 วัน

แม้แต่ “กระทรวงศึกษาธิการ” ก็ล้อมคอกงดกิจกรรมทัศนศึกษา เพื่อหามาตรการป้องกันการดูแลความปลอดภัยของเด็ก เพราะอุบัติเหตุรถบัสนักเรียนเกิดขึ้นซ้ำซากมาตลอด แล้วยิ่งครั้งนี้ก็เกิดเพลิงไหม้กลางกรุงทำให้ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค เสนอว่า

สำหรับเวทีแถลงจัดการผู้ที่ทำให้รถไม่ปลอดภัย ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตเด็กและครูครั้งนี้ก็อยากจะเรียกร้องให้ “เกิดการปฏิรูป หรือปฏิวัติสำหรับการเดินทางอย่างปลอดภัย” โดยมุ่งโฟกัสแก้ไขกระบวนการจัดรถเดินทางที่เป็นเด็ก หรือการทัศนศึกษาเพราะไม่ควรมีใครต้องได้รับความสูญเสียจากอุบัติเหตุลักษณะนี้อีกต่อไป

...

เรื่องนี้หากเทียบในหลายประเทศทั่วโลก “ทันทีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นนั้น” มักมีกระบวนการสืบสวนสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา “เก็บหลักฐานให้มากสมบูรณ์ที่สุด” โดยไม่ลูบหน้าปะจมูกเพื่อนำไปสู่การตั้งวงคุยกันต่อว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นมีจุดบกพร่องตรงจุดใด” อันจะเป็นข้อมูลถูกใช้ในการปฏิวัติ หรือแก้ไขในวันข้างหน้าต่อไป

สิ่งที่สำคัญคือ “การพัฒนากฎหมายในเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสาร” จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการบังคับใช้อย่างจริงจังกับรถโดยสารทั้งหมด “ไม่มีการยกเว้นรถเก่า” โดยเฉพาะกรณีแชสซีรถโดยสารเก่า หรือการจดทะเบียนต่างๆ ควรต้องเขียนกฎกติกาให้ครอบคลุมอยู่ในกระบวนการกฎหมายทั้งหมด

ต่อมาคือ “การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ” เพื่อให้ครอบคลุม สะดวก และปลอดภัยเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพราะเรารณรงค์ให้นักเรียนหันมาใช้รถสาธารณะ เพื่อลดอุบัติเหตุจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ จึงอยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่การพูดคุยเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่รถ จยย.และต้องปลอดภัยยิ่งกว่านั้น

ขณะที่ คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผช.เลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค บอกว่า กรณีไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาครั้งนี้มีข้อเท็จจริงหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งแก๊สเอ็นจีวีไม่ได้มาตรฐานจนรั่วไหลเกิดไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้โดยสารบางส่วนหนีมาท้ายรถ ประตูฉุกเฉินกลับปิดออกไม่ได้อีก

ฉะนั้นมาตรฐานการได้มาของรถบัสที่ปลอดภัยและคนขับมีความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากมาดูระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ.2562 “ไม่มีหลักเกณฑ์การพาเด็กไปทัศนศึกษาตามช่วงวัย” อย่างครั้งนี้ในรถ 3 คันมีนักเรียนอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาอยู่รวมกัน

แน่นอนว่า “การรับรู้ย่อมแตกต่างกันของช่วงวัยกลับนำเด็กมาทำกิจกรรมร่วมกัน” ยิ่งกว่านั้นนำเด็กระดับอนุบาล และประถมเดินทางทัศนศึกษาข้ามจังหวัดระยะทางไป-กลับ 540 กม. มีกำหนดการออกจากบ้านตี 5 กลับถึงบ้าน 2 ทุ่ม ทำให้มีคำถามการทัศนศึกษาเดินทางไกลระดับนี้จำเป็นสำหรับเด็กเล็กมากน้อยเพียงใด...?

...

เช่นนี้ประเด็นอยากเสนอมี 3 ข้อ คือ 1.ทบทวนระเบียบว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาฯ เพิ่มเงื่อนไขการทัศนศึกษาที่เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียน และการกำกับมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ รวมถึงแผนการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต และร่างกายของนักเรียนทุกคน

กรณีต้องเดินทางระยะทางไกล “ข้ามจังหวัด” ควรมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รองรับ 2.กำหนดให้มีมาตรการซักซ้อมความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ในการดูแลเด็กภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินของบุคลากร และนักเรียนในทุกมิติ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น รถตกน้ำ ไฟไหม้

ข้อ 3.เสนอให้มีการใช้สัญญามาตรฐานเช่ารถไม่ประจำทาง เพิ่มเติมจากระเบียบจัดซื้อจัดจ้างทางราชการ กรณีมีเหตุจำเป็นนำนักเรียนเดินทางควรคัดกรองรถที่ได้มาตรฐานรถรับส่งนักเรียนมีความปลอดภัย ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคจัดทําขึ้นนำไปปรับใช้ได้ เพื่อเป็นเครื่องมือขั้นตอนแรกในการคัดกรองผู้ให้บริการที่มีคุณภาพ

เช่นเดียวกับ เชษฐา มั่นคง คณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค บอกว่า กรณีสังคมถกเถียงควรยกเลิกทัศนศึกษาหรือไม่ “ส่วนตัวมองว่าเป็นเพียงปลายเหตุ” แต่ไม่ได้มองในเชิงการป้องกันดูแลเด็กนักเรียนออกนอกสถานที่ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆ ในการควบคุมเรื่องของคุณภาพ

...

ตามหลักก่อนจัดทัศนศึกษา “บริษัทรถ” ต้องตรวจรถตามมาตรฐาน ส่งใบยืนยันการตรวจคุณภาพให้โรงเรียนแน่ใจใช้บริการมีคุณภาพดีเพียงแต่สิ่งนี้ไม่ปฏิบัติมักยึดระเบียบของราชการเทียบ 3 บริษัทแล้วเลือกบริษัทถูกที่สุดซึ่งนำมาสู่การได้รถมาตรฐานต่ำ ดังนั้นควรยกเลิกระเบียบนี้ หันมาเน้นความปลอดภัยให้เด็กมากที่สุดดีกว่า

ด้วยปัจจุบัน “อัตราการเกิดใหม่เด็กน้อยลง” ตามข้อมูลในปี 2567 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 5.1 แสนคน และเด็กเยาวชนทั่วประเทศมี 19 ล้านคน ทำให้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเสียชีวิตเด็กให้น้อยที่สุด ด้วยอาจจะบูรณาการหลักสูตรเติมทักษะชีวิต หรือจัดทำแผนเผชิญเหตุไว้ในกลุ่มวิชาลูกเสือให้เหมาะกับสถานการณ์

เพื่อให้เด็กเรียนรู้วิธีการเผชิญเหตุ “จะได้มีทักษะเอาตัวรอด” เช่นกรณีเกิดอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ขณะที่ครูผู้ดูแลเด็กก็ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยกรณีพาออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย

...

ประเด็นคือ “ประเทศไทยมีแหล่งเรียนรู้น้อย” โดยพิพิธภัณฑ์ที่อยากให้เด็กไปเรียนรู้ก็กระจุกอยู่ในตัวเมือง อยู่ไกล และเข้าถึงได้ยาก แล้วยิ่งผู้ปกครองบางรายมีรายได้น้อยไม่สามารถพาบุตรหลานไปเรียนรู้นอกสถานที่ได้ ดังนั้นกรณีถกเถียงว่าการทัศนศึกษาก็เป็นสิ่งจำเป็นสําหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย

“การทัศนศึกษาเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่มีประเด็นเป็นต้นตออีกมากไม่ได้พูดหรือพูดแค่บางส่วน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดข้อกำหนดการจัดทัศนศึกษา การดูแลความปลอดภัย เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่คิด ออกแบบมาตรการสร้างความปลอดภัยทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน และการเดินทางไปทัศนศึกษาด้วย” เชษฐาว่า

เหตุคราวนี้สะเทือนใจคนไทยรุนแรงมากที่สุด “ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศ 23 คน” จึงอยากให้เป็นบทเรียนที่ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ปรับปรุง และเพิ่มความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น... มิเช่นนั้นเราก็ยังจะต้องเห็นการสูญเสียแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อไปอีก.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม