คอลัมน์บนเส้นทางชีวิต “หมอชาวบ้าน” ฉบับ  ต.ค.67 นพ.ประเวศ วะสี เขียนเรื่องประสบการณ์จากการอ่านในวัยเด็ก ใครอยู่ใกล้ๆ นายกฯอิ๊งค์ ที่ดูแลนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ช่วยเอาไปให้ท่านอ่าน

อาจารย์เล่าว่า เมื่อเด็กบ้านนอกยากจนอยู่ในป่า อายุ 6-7 ขวบ เริ่มอ่านหนังสือออก ย่าไม่รู้หนังสือแต่ชอบฟังนิยาย ใช้ให้อ่านนิยายอิงพงศาวดารจีนให้ฟัง ผมอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง บางตอนย่าก็หัวเราะเอิ๊กๆ

บังเอิญสาวรุ่นลูกพี่ลูกน้อง พอมีสตางค์ซื้อนิยายจีนโบราณมาอ่าน ถึงย่าไม่ใช้ก็อ่านเองด้วยความสุข

นั่งนอนอ่านหนังสือจีนได้ทั้งวัน รู้เรื่องตงฉินและกังฉิน เป็นคนดีและคนชั่วอย่างไร รู้เรื่องเมืองฉางอาน รู้ว่าคนทั้งแผ่นดินซุ่มเรียนหนังสือเพื่อไปสอบเป็นจอหงวนในเมืองหลวง สอบได้แล้วมีชื่อเสียง ไต่เต้าไปเป็นขุนนางอย่างไร

เด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบ จะมีจินตนาการอย่างนั้นได้อย่างไร?

อาจารย์เล่าว่า หาบน้ำจากแม่น้ำแควน้อย ขณะหยุดพักบนตลิ่ง มองภูเขาและเมฆ มีจินตนาการว่า วันหนึ่งเราจะไปสอบจอหงวนที่เมืองหลวง ตอนนั้นยังไม่รู้จักกรุงเทพฯ

จินตนาการทำให้เกิดความมุมานะที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริง ผมได้ไปเรียนแพทย์ซึ่งเป็นที่รวมของคนเก่งๆ ตอนนั้นยังไม่รู้คำพูดของไอน์สไตน์ที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”

“ผมมีจินตนาการใหญ่ๆอีกหลายครั้ง และพบว่าจินตนาการทำให้เกิดฉันทะและวิริยะอย่างแรงกล้า” และหวนระลึกถึงเจ้าชายสิทธัตถะที่มีจินตนาการว่า“มนุษย์พ้นทุกข์ได้”

การอ่านทำให้เกิดความสุข การอ่านก็กลายเป็นนิสัย เห็นความงามในตัวหนังสือ และทำให้ได้ความรู้กว้างขวางออกไป

คนไทยไม่มีนิสัยรักการอ่าน เพราะอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน อาจารย์บอกว่า เคยเรียนอยู่ที่ลอนดอน ฤดูหนาวปีหนึ่งอากาศหนาวมาก ผู้คนเก็บตัวอยู่ในที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว มีหมอไทยคนหนึ่งแทบเป็นบ้า

...

จึงเข้าใจว่า คนเมืองหนาว ถ้าไม่ใช้เวลาที่ซ่อนตัวหนีหนาวไปกับการเขียนและการอ่านจะเป็นบ้าตาย

คนในเขตหนาวจึงรักการเขียนและการอ่านมากกว่าคนในเขตร้อน

เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศใหม่ๆ อาจารย์ได้รับเชิญไปในเดือนกรกฎาคม อากาศร้อนมากคนจีนออกมาเดินเต็มถนน ตกดึกเที่ยงคืนค่อยคลายร้อนจึงกลับบ้าน ทำให้เข้าใจคนเขตร้อนจะใช้ชีวิตนอกบ้าน

ชีวิตนอกบ้านไม่เหมาะแก่การเขียนการอ่าน แต่เหมาะแก่การสังสรรค์รื่นเริง คนไทยจึงมีวัฒนธรรมพูดมากกว่าการเขียนการอ่าน อีกประการระบบการศึกษาไทยที่เน้นการท่องจำมากๆ ทำให้มีข้อมูลข่าวสารความรู้น้อย

ต่างจากคนญี่ปุ่น คนจีนหรือคนเยอรมัน 3 ประเทศนี้มีสมรรถภาพของชาติสูง เมื่อการเมืองลงตัว จึงเจริญอย่างรวดเร็ว

บ้านเราหนังสือดีๆ ขายได้น้อยมาก แต่ละเล่มพิมพ์ครั้งละไม่ถึง 3,000 เมื่อขายได้น้อย ก็ไม่มีกำลังส่งต่อให้ผู้ต้องการเขียนหนังสือดีๆ เกิดเป็นวัฏฏะแห่งวิกฤติความรู้ วิกฤติโควิด-19 แสดงผลร้ายของการเป็นสังคมขาดความรู้

วัฏฏะแบบนี้ ต้องไม่เป็นเช่นนี้ต่อไป รัฐบาลต้องมีนโยบายหนังสือ ใช้งบประมาณปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท ก็นับว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับการใช้เงินเป็นแสนๆล้านบาท ที่ใช้ไปในการเยียวยาผลของการเป็นสังคมด้อยความรู้

งบประมาณจากนโยบายหนังสือ ควรใช้สนับสนุนให้มีนักแต่งนิทานและวรรณกรรมดีๆให้มาก

นิทานวรรณคดีที่อ่านสนุก ไพเราะ มีความรู้ สาระที่สอดแทรกอย่างชาญฉลาด จะเปลี่ยนคนไทยให้เป็นคนรักการอ่าน เกิดจินตนาการน้อยใหญ่ขึ้นมาเต็มประเทศ สร้างคนไทยให้มีข้อมูล มีความรู้เพื่อพัฒนาคนและสังคม

ที่ว่าหนังสือดีๆขายได้น้อย รัฐบาลต้องเข้าตัดวงจรอุบาทว์ โดยส่งหนังสือดีๆให้แก่ครอบครัวที่มีลูกเกิดใหม่ ให้พ่อแม่อ่านหนังสือดีๆให้ลูกฟัง และสร้างนิสัยการอ่านในเด็กเล็ก

นอกจากนั้น ควรส่งหนังสือดีๆไปให้ห้องสมุดประมาณ  10,000 ชุมชน

ชมรมรักการอ่านในชุมชนจะเป็นผู้เผยแพร่การอ่าน ทั้งนี้ ก็จะสามารถเปลี่ยนสังคมอ่านน้อย เพราะเป็นสังคมเขตร้อน เป็นสังคมรักการอ่าน และมีภูมิต้านทานต่อไวรัส (วายร้าย) แห่งการเบาปัญญา.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม