หน้าที่ 18 หนังสือ “เยาวราชในดวงหน้า” (สำนักพิมพ์แสงดาว พ.ศ.2567) สมชาย จิว พาไปรู้จัก หลวงโกชาอิศหาก และสุเหร่ากลางดงจีน

ร้อยทั้งร้อยก็รู้กันอยู่ เยาวราชหรือสำเพ็งมีแต่คนจีน เพียงแต่ต้องรู้ต่อ เดิมทีพ่อค้าแขกมลายู มุสลิม อินเดียใต้ กระทั่งทมิฬ ที่เคยปักหลักทำมาค้าขาย รวมเพชรพลอยอยู่ฝั่งคลองสาน ได้ขยับขยายข้ามฟากมาแทรกตัวอยู่ด้วย

ใครไม่เชื่อก็ขอให้เชื่อ เพราะยังมีภาพเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 อยู่แถวถนนวานิช หรือตรอกสำเพ็งด้านวัดเกาะเป็นหลักฐาน ปัจจุบัน บางร้าน เช่น ร้านอี แอม อาลี ก็ยังเปิดกิจการอยู่

สมชาย จิว ค้นเรื่องเก่ามาเล่าว่า ปี พ.ศ.2417 ปีที่ 7 ของรัชกาลที่ 5 จีนกี้ หรือหลวงบุรุษประชาภิรมย์ (กี้ บุณยัษฐิติ) ได้คุมเรือสินค้าจากจันทบุรีมาค้าพลอย ในร้านค้าอย่างแขกกลางชุมชนเยาวราช กรุงเทพฯ

ท่ามกลางชุมชนชาวจีน ที่มีแต่ศาลเจ้าจีนและวัดพุทธ ตามวิถีอิสลาม พ่อค้าแขกก็ต้องนั่งเรือข้ามฟากไปละหมาดที่ฝั่งคลองสาน

คลองสานสมัยนั้นเป็นมุสลิมสแควร์ มีทั้งมัสยิดกูวติลอิสลาม (ตึกแดง) พ่อค้ามุสลิมนิกายซุนนี มัสยิดเซฟี (ตึกขาว) พ่อค้ามุสลิมชีอะฮ์ ดาวูดีโบห์รา โบราณเรียกแขกสะระบั่นทอง (ตามผ้าโพกศีรษะสีทอง)

ต่อมา มีผู้ทำ “บาแล” บนชั้นสองของตึกละแวกซอยวานิช ชาวมุสลิมในดงจีนก็ได้อาศัยทำละหมาด ทำได้ไม่นานมีเหตุให้เลิก กลุ่มมุสลิมรวมตัวกันไปร้องขอ หลวงโกชาอิศหาก ให้ช่วยสร้างสถานที่ประกอบศาสนกิจให้

หลวงโกชาอิศหาก (บิน อับดุลลาห์) เป็นบุตร นายหวัน มูซา กับนางจุ้ย ชาวเมืองไทรบุรี ตอนนั้นขึ้นกับสยาม

ราชทินนาม โกชาอิศหาก มีในทำเนียบนามเสนาบดีแลอำมาตย์ ตำแหน่งล่ามมลายู กรมท่าขวา ติดต่อชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายกับสยาม และมีหน้าที่รับต้นไม้ทองเงินซึ่งประเทศราชมลายูนำเข้ามา สวามิภักดิ์

...

หลวงโกชาอิศหากจึงคุ้นเคยกับเจ้าประเทศราช มหารายา และสุลต่านมลายูเป็นอย่างดี

ถึงขั้นรายาเมืองปลิส ออกปากขอ ตุ๋ย บินอับดุลลาห์ บุตรชายคนที่ 12 เป็นบุตรบุญธรรม

หลวงโกชาอิศหาก นอกจากเป็นล่ามยังมีหน้าที่รักษาประชาคมในเขตกำแพงเมือง ด้วยหน้าที่นี้ บรรดาพ่อค้ามุสลิมในสำเพ็ง จึงขอร้องให้ช่วยหาที่ทำละหมาดให้

หลวงโกชาอิศหาก หาซื้อที่ดิน ท้องร่องสวนหมาก สวนมะม่วงเก่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 2 ไร่ (บริเวณทรงวาดปัจจุบัน) ตอนแรก ก็ทำเป็นเพียงบาแล ชาวบ้านเรียก บ้านแล ก่อน

ไม่นานเมื่อบ้านแลทรุดโทรม หลวงโกชาอิศหากจึงดำริสร้างมัสยิดถาวร รูปทรงสถาปัตยกรรม นีโอ-คลาสนิก ตามสมัยนิยม เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงงามแปลกตา

ชั้นล่าง ให้ใช้ละหมาดประจำวัน วันละห้าเวลา ชั้นสองเปิดให้ใช้ในวันศุกร์

ภายในมัสยิดมีมิห์รอบ ระบุทิศทางกิลลฮ์ หรือทิศทางที่มุสลิมทั่วโลกหันไปเวลาละหมาด ด้านหลังมัสยิดใช้เป็นกุโบร์ หรือสุสานคนในตระกูล และอนุญาตให้ฝังร่างชาวมุสลิมเยาวราชอื่นด้วย

ป้ายที่เขียนติดไว้ในกุโบร์ มีทั้งภาษาอาหรับและภาษาชาวหุย (มุสลิมจีน)

มัสยิดแห่งนี้ ชาวบ้านเรียกกันว่า สุเหร่าวัดเกาะ ด้วยเหตุที่อยู่ใกล้วัดเกาะ จึงเป็นมัสยิดแห่งเดียวในท่ามกลางชุมชนคนจีนเยาวราช

ปัจจุบันเป็นมัสยิดส่วนตัวของคนในตระกูล “สมันตรัฐ” แต่เปิดกว้างให้พี่น้องร่วมศาสนิกทำศาสนกิจประจำวัน 

เรารู้จักเยาวราชในมิติต่างๆ เช่น รู้จัก “ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะ” แล้ว วันนี้รู้จักอีก สุเหร่าวัดเกาะ หนึ่งดวงหน้าแห่งความหลากหลายในเยาวราช ชนิดไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม