เหตุสลดสะเทือนขวัญกรณีไฟไหม้ “รถบัสทัศนศึกษา” เด็กนักเรียนจากจังหวัดอุทัยธานี บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต จังหวัดปทุมธานี จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นอีกครั้งที่คนไม่น้อยในสังคมตั้งคำถามถึงความปลอดภัยและมาตรฐานของ “รถบัสโดยสาร”

เสียงสะท้อนหนึ่งจากครูประจำชั้นที่นั่งอยู่รถบัสคันที่ 3 ระบุว่า พอเธอไปถึงที่เกิดเหตุก็ได้สั่งให้คนขับรถหยุดแล้วก็โดดลงมา จังหวะนั้นเห็นเด็ก 2 คนลงมาจากรถ ซึ่งสภาพของเด็กตัวพองหมดแล้ว กลัวว่าน้องจะโดนรถชนเลยอุ้มมาวางไว้ ภาพที่เห็น...รถไฟลุกเยอะแล้วทั้งคัน เลยตะโกนบอกให้คนในรถลงมา

“แล้วก็มีคนเอาไม้ไปช่วยกระทุ้งประตูรถด้านหลังแต่ไม่ไหวแล้ว ประตูเปิดได้แค่บานหน้า หากประตูหลังเปิดได้ เด็กน่าจะรอดมากกว่านี้ แต่เปิดไม่ได้และมีคนเอาถังดับเพลิงไปช่วยดับแต่สู้แรงไฟไม่ไหว”

ในเบื้องต้นยังมีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุมี “ยางระเบิด” ก่อนเกิดเหตุไฟลุกไหม้ ครูพยายามช่วยนักเรียนออกมาแต่ได้เพียงบางส่วน การเข้าไปช่วยเหลือเป็นไปด้วยความลำบาก

และ...พบร่างผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่บริเวณท้ายรถ

ผู้สันทัดกรณีตั้งข้อสังเกต...ปกติรถบัสรุ่นใหม่จะทำตัวรถด้วยวัสดุไม่ติดไฟ แต่ถ้าเป็นรถที่ดัดแปลงรุ่นเก่าจะมีวัสดุที่ติดไฟง่ายต้องตรวจสอบว่ารถคันเกิดเหตุมีการรับรองการได้รับอนุญาตในการรับส่งหรือไม่?

ตอกย้ำความเป็นจริงที่ต้องยอมรับที่ว่า “ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติ “อุบัติเหตุบนถนน” สูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะปัญหายานพาหนะที่ไม่ได้มาตรฐานและพฤติกรรมการขับขี่ที่เสี่ยงอันตราย

...

ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ “จำนวนผู้เสียชีวิต” บนท้องถนน “เพิ่มสูง” ขึ้น

รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ (11 ก.พ.2567) กลุ่มแผนงานความปลอดภัย กรมการขนส่งทางบกระบุถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถด้วยความประมาท รองลงมา...คือขับตามหลังในระยะกระชั้นชิด และปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น ฝนตกถนนลื่น

สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดอุบัติเหตุคือ ปัจจัยด้านคน ปัจจัยด้านรถ และ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เรียกว่า...“ห่วงโซ่อุบัติเหตุ” ไล่เรียงกันไปเป็นข้อๆ อาทิ ขับรถด้วยความเร็ว ขับรถตัดหน้าและตามหลังในระยะกระชั้นชิด หลับใน ขับแซงอย่างผิดกฎหมาย...แซงในที่คับขัน ไม่ชำนาญเส้นทาง

ขาดทักษะที่ถูกต้องในการขับรถ ขาดสมาธิ เมาสุรา ใช้สารเสพติดออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประมาทด้านรถก็เช่น...สภาพยาง ระบบเบรก ระบบคันส่งคันชัก ระบบล้อ ระบบไฟฟ้า ระบบพวงมาลัย อุปกรณ์ส่วนควบอื่นๆ...ชำรุด และ รถเกิดเพลิงไหม้

น่าสนใจว่าปัจจัยสำคัญลำดับแรกที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะนั้นมาจาก “คน” มีสัดส่วนถึงร้อยละ 81.10 ดังนั้นการจัดการห่วงโซ่อุบัติเหตุจึงควรพุ่งเป้าไปที่ความบกพร่องที่เกิดจากคนเป็นอันดับแรก ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมและปัจจัยความบกพร่องที่เกิดจากรถ

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม เสริมว่า มาตรฐาน “รถบัสทัศนศึกษา” ในยุโรปกับโศกนาฏกรรมไฟไหม้รถบัสนักเรียนจากจังหวัดอุทัยธานี

กรณีเกิดไฟไหม้ทั้งคัน ที่ถนนวิภาวดีรังสิต สิ่งที่พบในเหตุการณ์คือไฟไหม้จากล้อหน้ายางแตก นักเรียนได้กลิ่นแก๊สในห้องโดยสาร รถบัสดังกล่าวใช้แก๊ส NGV เป็นเชื้อเพลิง ประตูทางออกฉุกเฉินไม่สามารถเปิดได้ นักเรียนและคุณครูเสียชีวิตหลายคนส่วนใหญ่อยู่ทางด้านหลังรถบัส

ข้อมูลทางเทคนิค “เชื้อเพลิง NGV” ของรถบัส ส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนนำมาอัดจนมีความดันสูงประมาณ 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้วแล้วนำไปเก็บในถังบรรจุที่มีความแข็งแรงทนทานสูงเป็นพิเศษ

ลักษณะจะเบากว่าอากาศ...หากมีการรั่วไหลก็อาจจะลอยสะสมขึ้นบนที่ฝ้าเพดานรถและอาจเกิดไฟไหม้ได้เมื่อมีความร้อนหรือไฟที่ระดับหนึ่ง โดยมีช่วงของการติดไฟที่ร้อยละ 5–15 ของปริมาตรในอากาศ อาจเป็นสาเหตุของไฟไหม้รถบัสได้

...

กรณีระบบความปลอดภัยของ “รถบัสในประเทศยุโรป” ข้อแรก...ระบบความปลอดภัยของตัวรถบัสเพื่อใช้ทัศนศึกษาในประเทศแถบยุโรป จะติดเซ็นเซอร์ป้องกันประตูปิดขณะผู้โดยสารขึ้นและลงจากรถ และตัวถังเป็นโครงสร้างเหล็กกัลวาไนซ์ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมากกว่าเหล็กทั่วไป

“กระจกผ้าม่านในรถและพื้นยางปูรถต้องทำจากวัสดุป้องกันไฟลามตามมาตรฐานของอียู...ในแต่ละที่นั่งมีเข็มขัดนิรภัยสองจุด...มีระบบเบรกอัจฉริยะเอบีเอส”

ทางออกฉุกเฉินของรถบัสให้มีถึง 3 ที่ ได้แก่ ท้ายรถด้านขวามีประตูฉุกเฉินพร้อมป้าย “EXIT” บานกระจกเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ซึ่งสามารถใช้เป็นทางออกฉุกเฉินได้ อีกทั้งช่องพัดลมดูดอากาศก็ยังใช้เป็นทางออกฉุกเฉินได้ด้วย

อีกเรื่องที่เป็นมาตรฐานสำคัญก็คือ...ความปลอดภัยด้านป้องกันไฟไหม้ของยุโรปที่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติในห้องเครื่องยนต์, ถังดับเพลิง 2 ถัง, ค้อนทุบกระจก 4-6 อัน, ระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้ในจุดล่อแหลม เช่น ล้อ ห้องเครื่อง ห้องเก็บสัมภาระ ห้องคนขับและห้องโดยสาร

...

น่าสนใจอีกว่า...“เชื้อเพลิง” ที่ใช้สำหรับรถบัสยุโรป จะใช้น้ำมันดีเซลยูโร 5 ไม่ใช่แก๊ส เพราะปลอดภัยกว่าและไม่ปล่อยฝุ่น PM2.5

ต่อเนื่องไปถึงเรื่อง...“ยางรถยนต์” รถบัสยุโรปต้องยึดเกาะถนนได้ดีตามมาตรฐานยูโร และพนักงานขับรถในยุโรปต้องมีใบขับขี่รถบัสหรือได้รับการรับรอง และมีประสบการณ์ขับขี่ สามารถยืนยันตัวตนได้

ชัดเจนว่าหากจะลดความเสี่ยงและเลี่ยงเหตุสลดสะเทือนขวัญกรณีอุบัติเหตุรถบัส...รถโดยสารสาธารณะให้ได้น้อยลง จะต้องตัดวงจรเหตุปัจจัย “ห่วงโซ่อุบัติเหตุ” ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม