ตำรวจ กก. 2 บก.ปอท. ตามรวบ 5 มิจฉาชีพชาวไทยสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่างชาติ ออกอุบายเปิดเฟซบุ๊ก ใช้โลโก้เลียนแบบ CP ALL ตุ๋นซื้อหุ้นกู้ มีผู้ตกเป็นเหยื่อกว่า 180 คน พบเงินหมุนเวียนในระบบของแก๊งกว่า 1,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างขยายผลกลุ่มนายทุนมีทั้งชาวจีน เวียดนาม กัมพูชา

ทลายเครือข่ายตุ๋นซื้อหุ้นกู้ “CP ALL” พบเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1,500 ล้านบาท เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 ต.ค. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.2 บก.ปอท. พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รอง ผกก.2 บก.ปอท. พ.ต.ต.ศุภเดช ธนชัยศิริ สว. (สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. พร้อมพวกนำกำลังจับกุม น.ส.น้ำอ้อย น้อยศรีเกตุ อายุ 34 ปี น.ส.หนู อินทะสอน อายุ 43 ปี น.ส.สายสมร อรชุน อายุ 26 ปี นายบุญมี เทียบอุดม อายุ 56 ปี และนายภูษิต ปุริธรรมเม อายุ 35 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันเป็นอั้งยี่ จับได้ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว และ จ.นราธิวาส

สืบเนื่องจากเมื่อเดือน พ.ย.66 มีมิจฉาชีพเปิดเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “Brand Cp” ใช้โลโก้เลียนแบบของบริษัท “CP ALL” โพสต์ภาพถ่าย ข่าวสาร กิจกรรมต่างๆของบริษัท พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนทั่วไปลงทุนซื้อหุ้นกู้กับบริษัท อ้างได้ผลตอบแทนสูง เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อสมัครสมาชิกโอนเงินเข้าลงทุนในระบบที่แสดงผลกำไรที่ได้จากการลงทุน ช่วงแรกๆเหยื่อทุกคนได้กำไรดี สามารถทำรายการถอนเงินจากการลงทุนได้ทั้งหมด ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อนำเงินมาลงทุนซื้อหุ้นกู้เพื่อต้องการกำไรที่มากขึ้น แต่เมื่อจะถอนเงินกลับถูกกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อีกทั้งยังบังคับให้ชำระเงินภาษี สุดท้ายไม่สามารถถอนเงินออกจากระบบได้ ทำให้เชื่อว่าถูกหลอกลวง รวมตัวเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท.

...

จากการตรวจสอบพบผู้เสียหายกว่า 180 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 62 ล้านบาท นอกจากนี้ พบว่าคนร้ายยักย้ายถ่ายเทแปลงเป็นเงินดิจิทัล พบเงินหมุนเวียนในกระเป๋าเงินดิจิทัลของกลุ่มคนร้ายกว่า 1,500 ล้านบาท เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลขอหมายจับเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มบัญชีม้า กลุ่มบัญชีคริปโตม้า กลุ่มนายทุนและฟอกเงิน มีทั้งชาวไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีน จำนวนหลายราย กระทั่งจับกุมผู้ต้องหาชาวไทยได้ 5 คนดังกล่าว

สอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ อ้างว่าถูกหลอกไปทำงานที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา เข้าทางช่องทางธรรมชาติ จากนั้นถูกนำตัวไปกักขังบังคับให้เปิดบัญชีธนาคารและบัญชีแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล หากไม่ทำตามจะถูกทำร้ายร่างกาย แต่ละวันจะมีสมาชิกของแก๊งคอลเซ็นเตอร์มารับตัวไปบังคับให้สแกนใบหน้าทำธุรกรรมทางการเงิน ได้ค่าจ้างวันละ 1,000 บาท เบื้องต้นคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท.ดำเนินคดี พร้อมขยายผลจับกุมนายทุนที่ยังหลบหนีมาดำเนินคดี

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่