การบริหารจัดการบูรณาการ “ฐานแผ่นดินไทย” ยังคงต้องเดินหน้าต่อกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า อีกหมุดหมาย สำคัญ...จุดยุทธศาสตร์อยู่ที่ “โรงพยาบาลอำเภอ” ซึ่งมีอยู่ใน ทุกอำเภอ และรับผิดชอบต่อสุขภาวะที่สมบูรณ์ของประชาชนในพื้นที่
จนสามารถเรียกว่าเป็น... “สถาบันฐานแผ่นดินไทย”
ในการพัฒนาที่เรียกว่า 1 มหาวิทยาลัยต่อ 1 จังหวัด คือทุกมหาวิทยาลัย นอกจากเทคนิคทางวิชาการแล้ว ควรทำงานวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยตั้งศูนย์วิจัย...พัฒนาพื้นที่ในอำเภอ ตั้งอยู่ในที่ดินของโรงพยาบาลอำเภอซึ่งมีอยู่แล้ว และร่วมงานกับโรงพยาบาลอำเภอ เป็นสถาบันฐานแผ่นดินไทยร่วมกัน
“สถาบันฐานแผ่นดินไทย” จะทำงานสนับสนุนให้ทุกชุมชน ทุกตำบลในอำเภอสามารถพัฒนาอย่างบูรณาการ 8 มิติ คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา ประชาธิปไตย
ทั้ง 8 มิติต้องบูรณาการอยู่ในกันและกัน ไม่ใช่พัฒนาแต่ละเรื่องแยกๆกันไป อย่างที่ทางพระเรียกว่า “มรรคสมังคี” คือมรรค 8 นั้นไม่ได้แยกเป็นมรรคๆ แต่มรรคทั้ง 8 บูรณาการกัน... สามัคคีกัน
...
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี บอกว่า ในแต่ละมิติของการพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการสามารถตั้ง เป้าหมายได้ เช่น เรื่อง “เศรษฐกิจ” เป้าหมายคือมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่
ซึ่งหมายถึง... “ทุกครอบครัว” มีงานทำ มีรายได้ หลุดหนี้ มีเงินออม
“เมื่อเศรษฐกิจดีจะเชื่อมโยงไปถึงการมีจิตใจดีหรือมีศีลธรรม เพราะถ้ายากจนข้นแค้นเกินไป การพัฒนาจิตใจ ย่อมไม่ได้ผล สถาบันทางศาสนา คือวัดทั้งหมดในพื้นที่ก็ต้อง มาร่วมบูรณาการกับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่ทำแต่พิธีกรรมและสอนธรรมะแบบแยกส่วน ซึ่งจะไม่สำเร็จ”
“สังคม”...ต้องเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ทุกชุมชนมีอาสาสมัครจากทั้งภายในและภายนอกช่วยดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ส่วน “สิ่งแวดล้อม”...ก็ดังที่กล่าวมาแล้วเรื่องการออกแบบพื้นที่ ทุกชุมชน ทุกพื้นที่ ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม ฝนแล้ง และความยากจน
“วัฒนธรรม”...คือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มคนในพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ความเชื่อ คุณค่า การทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย การแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เพื่อการอยู่ร่วมกัน การแก้ความขัดแย้งในชุมชน การดูแลทะนุบำรุงสิ่งแวดล้อม การรักษาตัว ทั้งหมดรวมกันเรียกว่า “ภูมิปัญญา”
หมายถึง...ปัญญาที่ติดแผ่นดิน ซึ่งได้มาจากวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชน การได้อยู่ในสังคมวัฒนธรรมทำให้เกิดความอบอุ่น เรียนรู้ง่าย สนุก และมีความสุขร่วมกัน
ถัดมา...สุขภาพบูรณาการหรือสุขภาพชุมชน ทุกชุมชนมีคนประมาณ 1,000 คน ควรมีหน่วยพยาบาลชุมชน ซึ่งมีพยาบาลประจำ 3 คน คือพยาบาลวิชาชีพ 1 คน และผู้ช่วยพยาบาล 2 คน กำลังพยาบาล 3 คนต่อประชากร 1,000 ทำให้ดูแลทุกคนได้ใกล้ชิดประดุจญาติ ให้บริการทุกอย่าง...ทั้งการรักษาโรคที่พบบ่อย
การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ ทำให้คนในชุมชนไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลใหญ่น้อยลง
“การศึกษาบูรณาการ”...ไม่ควรเป็นการศึกษาโดยท่องวิชาแบบปัจจุบัน แต่เป็นการศึกษาในฐานวัฒนธรรม ศึกษาจากการทำงานและการอยู่ร่วมกัน การศึกษาที่บูรณาการในฐานการทำงานจะไม่ทำให้คนว่างงาน ไม่สร้างความยากจนและทำให้หายยากจน... ไม่ใช่การศึกษาที่ให้ท่องแต่วิชาโดยทำอะไรไม่เป็น
...แต่ทำให้ทำเป็น คิดเป็น จัดการเป็น อยู่ร่วมกันเป็นและเรียนรู้เป็น นี่คือการศึกษาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่การศึกษาแบบแยกส่วนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เป็นการศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ชีวิตต้องทำอะไรก็เรียนรู้เพื่อชีวิต ชีวิตคือการเรียนรู้
...
มิติสุดท้าย “ประชาธิปไตยชุมชนหรือชุมชนาธิปไตย” ชุมชนมีขนาดเล็ก เมื่อทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาจึงเป็นประชาธิปไตยทางตรง...ที่ไม่ต้องอาศัยการเลือกตั้ง ซึ่งมีการซื้อเสียงขายเสียง เป็นประชาธิปไตยปลอมหรือประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ และเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม
ทั้งหมดนี้โดยย่นย่อคือ การพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ 8 มิติ โดยมีการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นจุดคานงัด “คน”...ทั้งหมดจึงพ้นจากความยากจน พ้นจากภัยพิบัติ จากน้ำท่วม จากฝนแล้ง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ฝาก ทิ้งท้ายว่า คนไทยต้องมีความมุ่งมั่นร่วมกันคือ...บูรณาการฐาน แผ่นดินไทยให้ปลอดจากภัยพิบัติ 3 ประการ สิ่งนี้น่าจะเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกฝ่ายได้โดยไม่ยาก แทนที่จะคิดแบบแบ่งข้าง แบ่งขั้วและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน...มาเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย
“การสร้างความมุ่งมั่นร่วมกัน คือการออกจากการ เผชิญหน้า สู่ความร่วมมือ ก้าวข้ามความแตกแยกทุกชนิด...ต่างจากที่ผ่านมาที่ไม่เคยมีความมุ่งมั่นร่วมกัน ต่างคนต่างส่วน ต่างไป จึงไม่มีพลังร่วมในการพัฒนาประเทศ...จึงต้องหาความ มุ่งมั่นร่วมกันให้ได้”
...
เมื่อมีความมุ่งมั่นร่วมกันและมีหลักการที่ถูกต้อง “ทุกฝ่าย” จะสามารถทำการร่วมกัน คือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง จุดสำคัญคือต้องมาถึงขั้นนี้ให้ได้ เพราะการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในทุกมิติ
ยิ่งทำ ยิ่งรักกันมากขึ้นเพราะมีความเสมอภาค ภราดรภาพ สามัคคีธรรม...เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกันซึ่งหาได้ยาก จะใช้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนก็ซื้อไม่ได้ แต่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติถ้ามีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ...เกิดความฉลาดและฉลาดร่วมกัน การเรียนรู้เดี่ยวๆในเรื่องที่ซับซ้อนและยากเป็นสิ่งที่ยากแค้นแสนเข็ญ
“ทุกคนจะเหมือนเป็นคนโง่ แต่ถ้ามีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจะง่ายและมีความสุข จึงเกิดความฉลาดและฉลาดร่วมกัน...เกิดปัญญาร่วม นวัตกรรมและอัจฉริยภาพกลุ่ม”
พลังมหาศาลที่เกิดขึ้น ย่อมทำให้สามารถผ่านพ้นอุปสรรคทุกชนิดสู่ความสำเร็จได้.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม
...