แม้ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการสำรวจพบว่าคนไทยสวมหมวกนิรภัย หรือหมวกกันน็อกต่ำกว่า 50% ทั้งที่อัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์มากถึง 82.5% แต่ในสถิติเหล่านั้นก็มีตัวเลขหนึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ พบกลุ่มเด็กที่ซ้อนท้ายสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น 16% โดยจังหวัดตราดเป็นจังหวัดที่มีเด็กสวมหมวกเพิ่มสูงสุดถึง 32% ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำงานเชิงลึกของภาคีเครือข่ายที่เห็นความสำคัญของการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนแก่เด็กเล็ก ประกอบกับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมในระดับต่างๆ ทั้งจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หน่วยงานส่วนตำบล ส่วนอำเภอ รวมถึงจังหวัด จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในอีกหลายพื้นที่ และหลายจังหวัด ครั้งนี้ สสส. จึงพร้อมผนึกกำลังกับมูลนิธิไทยโรดส์ และภาคีเครือข่าย เดินหน้าขยายผลอย่างต่อเนื่อง มุ่งหวังให้เกิดเป็นความยั่งยืน เพื่อ #Saveสมองเด็กไทย สวมหมวกนิรภัย 100%

ปลูกวินัยจราจรตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่ออนาคต

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวบนเวทีการแถลงผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ปี 2566 ที่จัดขึ้นโดยการร่วมมือของ สสส. และมูลนิธิไทยโรดส์ ร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า สสส. เชื่อมั่นถึงการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับปฐมวัยที่การปลูกฝังเรื่องต่างๆ สามารถส่งผลเนื่องไปถึงอนาคตเมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นได้ เหตุนี้จึงเข้าสนับสนุนและขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัยผ่านโครงการ “ห่วงใครให้ใส่หมวก” โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา เพื่อร่วมขยายผลการสวมหมวกนิรภัยในสถานศึกษา ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้เน้นขับเคลื่อนในศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อให้เป็นต้นแบบความปลอดภัยบนท้องถนนขึ้น

“ในปีที่ผ่านมาอัตราการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น จากค่าเฉลี่ย 7-8% เป็น 16% โดยเฉพาะจังหวัดตราดและจังหวัดภูเก็ตที่มีอัตราส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2562 จาก 1% และ 14% เป็น 32% และ 23% ตามลำดับ ตัวเลขนี้ช่วยสะท้อนความสำเร็จหนึ่งจากหลายๆ แนวทางได้ โดยเฉพาะการส่งเสริมและขยายผลการสวมหมวกนิรภัยในสถานศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มต้นด้วยการไปร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และตอนนี้เราก็มุ่งหวังอยากขยายผลต่อเนื่องเพื่อภาพรวมของประเทศ เพียงแต่หากลงลึกในรายละเอียดแล้วก็ยังพบข้อจำกัดในบางเรื่องอยู่ เช่นในส่วนของประชาชนเอง การมีหมวกกันน็อกหรือหมวกนิรภัยสำหรับเด็กๆ ทุกบ้านนั้นก็อาจไม่ง่าย เนื่องจากเด็กโตเร็ว ขนาดและรูปศีรษะก็เปลี่ยนเร็ว ทุกครอบครัวคงไม่สามารถเปลี่ยนหมวกนิรภัยได้บ่อยๆ แนวทางที่เรามองเห็นจึงได้แก่การมีหมวกนิรภัยแบบหมุนเวียนเพื่อใช้ในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ และเกิดเป็นแรงจูงใจต่อการใช้หมวกนิรภัยอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น รวมถึงยังจะได้สร้างความปลอดภัยให้แก่เด็กๆ อย่างต่อเนื่องไปอีก โดยร่วมกับ สปสช. จัดหาหมวกนิรภัยเพื่อใช้แบบหมุนเวียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้น ซึ่ง สสส. เชื่อว่า เป็นแนวทางที่เป็นไปได้ เนื่องจากความสำเร็จที่ผ่านมาก็เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากหน่วยงานระดับชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล ไปจนถึงระดับอำเภอ และจังหวัด ด้วยนั่นเอง”

นพ.พงศ์เทพ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในแง่การปฏิบัติ หากเด็กๆ สวมหมวกนิรภัยมากขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าผู้ปกครองมีแนวโน้มจะสวมหมวกมากขึ้นได้ สอดคล้องกับแนวทางของคุณพรทิพภา สุริยะ ผู้ขับเคลื่อน “โครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กต้นแบบในการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน” ที่กล่าวบนเวที “เสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองและทิศทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19” ว่าการขับเคลื่อนการส่งเสริมการสร้างความปลอดภัยในเด็กเล็กเรื่องการสวมหมวกนิรภัยได้ส่งผลสะท้อนไปถึงผู้ปกครองด้วยอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ของศูนย์เด็กเล็กหลายแห่งที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองมากขึ้น ขณะเดียวกันหลายกิจกรรมก็ยังส่งผลดีต่อเนื่อง อย่างการส่งมอบความรู้ความเข้าใจด้านวินัยจราจร รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการขับขี่ที่ปลอดภัยมากขึ้นได้อีกทาง

ผนึกกำลัง #Saveสมองเด็กไทย

สำหรับการแถลงผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ปี 2566 ที่ผ่านมา มีข้อมูลจากมูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) จากการสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ตั้งแต่ปี 2553 ถึง ปี 2566 น่าสนใจที่จะสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อต่อยอดและขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางต่อไป โดย คุณณัฐพงศ์ บุญตอบ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิไทยโรดส์ เปิดเผยว่า ภาพรวมของประเทศ มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยเพียง 43% แบ่งเป็นคนขี่และคนซ้อนที่สวมหมวกนิรภัย 48% และ 21% ตามลำดับ

โดยแต่ละภาคมีจังหวัดที่สวมหมวกนิรภัยสูงสุด ได้แก่

- ภาคเหนือ คือจังหวัดเชียงใหม่ 59%
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือจังหวัดสุรินทร์ 53%
- ภาคกลางและภาคตะวันออก (ไม่รวมกรุงเทพฯ) คือจังหวัดตราด 67%
- ภาคใต้ คือจังหวัดภูเก็ต 55%
- และกรุงเทพฯ 71%

ทั้งนี้จังหวัดที่ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กดีเด่น ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ 29% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมาและอุบลราชธานี 21% ภาคกลาง กรุงเทพฯ 30% ภาคตะวันออก จังหวัดตราด 32% และภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต 37% ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความสำเร็จของการขับเคลื่อนหมวกนิรภัยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ สู่โรงเรียนเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงาน ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

เพื่อการเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางต่อไป มูลนิธิไทยโรดส์ ยังได้เสนอแนวทาง 5 เรื่องต้องทำเพื่อ #Saveสมองเด็กไทย ได้แก่

1) มีนโยบายขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัยจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น

2) เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายหมวกนิรภัย ด้วยการลงทุนเทคโนโลยี

3) สนับสนุนให้มีระบบติดตาม มาตรการสวมหมวกนิรภัย ด้วยการใช้ AI

4) ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน-วินัยจราจร ในสถานศึกษา

5) ส่งเสริมการเข้าถึงและจัดหาหมวกนิรภัยสำหรับเด็กที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย

โดยในโอกาสนี้ยังได้มีพิธีมอบรางวัลสำหรับจังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ “ในกลุ่มเด็ก” ดีเด่น ประจำปี 2566 เพื่อเชิดชูและสร้างต้นแบบต่อไปในอนาคต

นพ.พงศ์เทพ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็เป็นสิ่งเล็กที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ไม่ยากเช่นกัน หากทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า การขยายผลเพื่อขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์โดยเริ่มจากเด็กเล็ก คือจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้ เนื่องจากแนวคิดและพฤติกรรมเหล่านี้จะติดตัวพวกเขาต่อไปจนเติบโต สสส. มีความยินดีเช่นกัน หากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เห็นความสำคัญในเรื่องนี้และประสงค์จะเข้าร่วมสนับสนุน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการเพื่อเดินหน้าสร้างความยั่งยืนร่วมกัน