หนังสือเล่มล่าสดๆ ร้อนๆ จาก สำนักพิมพ์แสงดาว อ่านชื่อแล้วงง...“เยาวราชในดวงหน้า” สมชาย จิว อธิบายในคำนำ เรื่องเล่าลึกๆ แต่ละเรื่องในเยาวราช คือ 1 หน้า

ผมเลือกเรื่องเบาๆ อ่านแล้วยิ้มได้ หายง่วง หน้าที่ 7 ยายแฟง-แม่กลีบ สองแม่ลูกหอโคมเขียว

ตรอกเต๊า หรือเยาวราชซอย 8 ตรอกเล็กๆใกล้แยกราชวงศ์ มีศาสนสถาน ทั้งวัดญวน วัดกุศลสมาคร วัดจีน คือ วัดบำเพ็ญจีนพรต และวัดไทย คือวัดกันมาตุยาราม

เสน่ห์เร้นลึก ของตรอกที่ “แก่วัด” นี้ กลับมีชื่อจากโรงโสเภณี สมัยก่อนเรียกสำนักโคมเขียว

ก่อนหน้าจะมีตรอกเต๊า จริงๆ แล้วสำเพ็งมีโรงโสเภณีแล้วหลายแห่ง ผู้หญิงที่ทำกินในตรอกนี้ สุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศเมืองแกลง เรียกเธอว่า “นางจ้าง”

กาญจนาคพันธุ์เล่าเรื่องหญิงโคมเขียวในตรอกเต๊า จนเราพอเห็นภาพได้ว่า

เป็นห้องแถวยาวติดต่อกันไปตลอดตรอก ทุกห้องแขวนโคมเขียวไว้หน้าห้องเป็นแถว และเวลาก่อนค่ำ จะเห็นพวกโสเภณีเขาจุดธูปราวกำมือหนึ่ง มาลนที่ใต้โคมเขียวหน้าห้อง

ข้าพเจ้าเคยถามเขาว่า ลนทำไม เขาบอกว่าลนให้มีแขกเข้ามามากๆ “พวกนี้ราคาอยู่ใน 6 สลึง หรือสองบาท”

สมัยนั้น สำนักโคมเขียวที่มีชื่อเสียง อาทิ คลับยี่สุ่นเหลือง ตรอกยายแฟง ฝั่งตรงข้ามตรอกเต๊า ด้านถนนเจริญกรุง โรงแม่อิ่มขาว ตรอกโรงโคม โรงแม่ทับทิม ตรอกอาจม โรงแม่สุดหลังวัดสามจีน

และสำนักยายแฟงในตรอกเต๊านี่เอง

ยายแฟงเป็นเจ้าของสำนักที่มีชื่อเสียงมาก จนถึงกับมีวลีฮิตติดปาก “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขายหมี ยายมีขายเหล้า”

สำนักยายแฟงมีชื่อเสียง เพราะใช้ของดีมีคุณภาพ ห้องผู้หญิงตกแต่งอย่างกับห้องลูกสาวคหบดี มีม้าคันฉ่องตั้งพานเครื่องแป้งถม โถถมปริกทอง กระโถนเงิน ที่นอนหมอนมุ้งขาวสะอาด จึงเรียกแขกได้มาก

...

ประวัติยายแฟงบันทึกไว้น้อย เล่าเฉพาะเรื่องการสร้างวัดคณิกาผล อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เล่าประวัติยายแฟงไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ เม.ย. พ.ศ.2464 ว่า

ทำเลใกล้สำเพ็งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เคยเป็นพื้นที่ชาวจีนทำสวนพลู เจ้าสัวเอี๊ยน จีนสวนพลูเป็นคนมั่งคั่ง มีภริยาเป็นคนไทยชื่อแฟง ไม่มีลูกชายมีแต่ลูกสาวสองคน คนโตชื่อเอม แต่งงานกับพระมหาราชครูพระมหิธร (กลีบ) ลูกสาวคนเล็กชื่อกลีบ แต่งงานกับชายไทยไม่
ทราบชื่อ มีลูกชายชื่อพระดรุณรักษา (กันต์) ต้นสกุลสาครวาสี

ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นที่รู้กันว่า “ทูลเรื่องอื่นมิได้ชื่นเหมือนเรื่องวัด” พ.ศ.2376 ยายแฟงสร้างวัดเสร็จ มีงานฉลองวัดใหญ่โต นิมนต์สมเด็จพุฒาจารย์โต (วัดระฆัง) ตอนนั้นยังเป็นมหาโต มาเทศน์

มหาโตเทศน์ว่า อานิสงส์การสร้างวัดยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเงินที่สร้างวัดเป็นเงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนอื่น ที่ไม่ชอบด้วยธรรม ถ้าเปรียบอานิสงส์ด้วยเงินบาท ยายแฟงก็ได้ไปไม่เต็มบาทจะได้สักสลึงเฟื้อง

มีเรื่องเล่าต่อ ยายแฟงไม่พอใจไปนิมนต์ทูลกระหม่อมพระ (ต่อมา ร.4) มาเทศน์ต่อ ทูลกระหม่อมพระยังให้อานิสงส์สร้างวัดของยายแฟงน้อยกว่า ท่านให้แค่สองไพเท่านั้น

แม่กลีบลูกสาวยายแฟง สืบสานตำนานโคมเขียว เงินที่ทำมาหาได้จากโรงแม่กลีบ เอาไปสร้างวัดกันมาตุยาราม ตามชื่อลูกชาย

บ้านเมืองเรา ทำบาปแล้วก็ทำบุญ ผสมผเสปนเปกันไป แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ใช่ว่าเพิ่งมาริเริ่มทำกันในวันนี้

ตั้งแต่ผมอ่านเรื่องยายแฟงมา สมชาย จิว ค้นคว้ามาเขียนได้ทั้งลึกและกว้างกว่า นี่แค่หน้าเดียวของเยาวราชนะครับ อีก 17 หน้า เป็นอย่างไร? ขอแนะนำให้ไปหา “เยาวราชในดวงหน้า” อ่านกันเอง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม