แม้เราจะคุ้นเคยกับคำกล่าวที่ว่า “การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด” หรือ “Lifelong Learning” กันมานาน แต่คงไม่มียุคไหนจะเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ได้ชัดเจนเท่าในยุคนี้แล้ว… ยุคที่ว่าคือยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท และได้เปลี่ยนชีวิตแบบพลิกฝ่ามือ ยุคที่ AI คืบคลานเข้ามาแทนที่หลายสิ่ง นับจากนี้ต่อไปโฉมหน้าของโลกและชีวิตผู้คนจึงพร้อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอีกมาก นั่นแปลว่าหากเราไม่ปรับตัว หรือไม่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือทักษะใหม่ ๆ เราอาจกลายเป็น “คนตกยุค” หรือ “อยู่รอดได้ยาก” ในโลกที่เดินหน้าเร็วแบบก้าวกระโดดเช่นนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกของอาชีพการทำงาน ซึ่งเป็นภาคส่วนใหญ่ของชีวิตที่หลายคนเริ่มมองเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า หลายอาชีพถูกลดบทบาทลง หลายอาชีพถูกแทนที่ และหลายอาชีพหายไปแล้วแบบที่เราไม่ทันได้รู้เนื้อรู้ตัวก็มี ขณะเดียวกันก็มีหลายอาชีพเกิดใหม่ พร้อมทักษะใหม่ และองค์ความรู้ใหม่ ๆ อีกมากที่เราอาจไม่คุ้นเคย
..แล้วทางเลือก ทางรอดของชีวิตเราอยู่ตรงไหน!?
LEARN to EARN ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอด
หากวันนี้เราคือส่วนหนึ่งของบุคลากรในโลกของการทำงาน บางครั้งก็พบว่า ทักษะที่เรามีอาจไม่เพียงพออีกต่อไป การเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียนหรือการจำกัดอายุผู้เรียนแทบจะไม่มีอีกต่อไป แต่จะกลายเป็น “การเรียนรู้อยู่มากกว่าแค่ในห้องเรียน” หรือ “การเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ” สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกยุค ทุกสมัย เป็น Lifelong Learning
มูลนิธิเอสซีจี ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่อยากเห็นคนทุกคนมี mindset เหล่านี้ จึงให้ทุนเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาให้ครอบคลุมทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งการเดินหน้าขยายแนวคิด “LEARN to EARN” เรียนรู้เพื่ออยู่รอด เน้นการเรียนรู้เพื่อมีงานทำ พัฒนาทั้งทักษะวิชาชีพ (Hard skills) และทักษะชีวิต (Soft skills) เพราะเชื่อว่าทุกคนมีคุณค่าและศักยภาพในตัวเองสามารถเผชิญโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยใช้การเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืนอย่างมีความสุข
ทั้งนี้ มูลนิธิเอสซีจี ร่วมมือกับ TDRI (Thailand Development Research Institute) ทำการสำรวจและวิจัยเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหรือสถานการณ์แรงงานที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เพื่อกระตุ้นเตือนให้เกิดความตระหนักรู้และเร่งมือแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนจากหลายภาคส่วนไปด้วยกัน
ผลสำรวจชี้ชัด โลกอาชีพการงานเปลี่ยนไปแล้ว
จากผลสำรวจของตลาดแรงงานในหลากหลายวงการตลอดช่วงเวลา 2-3 ทศวรรษ สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าแรงงานไทยจะมีระดับการศึกษาสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนว่าโครงสร้างอาชีพแรงงานไทยกลับไม่ได้ยกระดับตามระดับการศึกษาไปด้วย ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก 3 เรื่องหลัก ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะความรู้ และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
2. ระบบการศึกษาไทยแม้จะสามารถกระจายโอกาสการศึกษาได้ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเชิงคุณภาพ ส่งผลให้ไม่มีทักษะเพียงพอสำหรับตำแหน่งงาน หรือทักษะที่มีอยู่ในตลาดแรงงานไม่ตรงกับทักษะที่นายจ้างในตำแหน่งงานนั้น ๆ ต้องการ จนนำไปสู่ข้อ 3 นั่นคือ
3. ความไม่เข้ากันระหว่างความต้องการแรงงานในตลาดแรงงาน กับระบบการศึกษาที่ผลิตแรงงานเหล่านั้นออกมา หรือ Skill Mismatch ซึ่งเป็นไปได้ทั้ง
- แรงงานมีวุฒิการศึกษาสูง-ต่ำกว่าที่ตลาดแรงงานต้องการ
- แรงงานมีวุฒิการศึกษาตรง แต่กลับจบไม่ตรงสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ
การไม่เข้ากันนี้ นับว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงและมีผลกระทบ ทั้งในระดับการศึกษาระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในระดับอาชีวศึกษาที่ต่างผลิตแรงงานออกมาทำงานอาชีพที่เฉพาะเจาะจง การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยยังพบอีกว่าส่วนใหญ่ทำงานไม่ตรงสายค่อนข้างมาก และนับว่าเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เช่น
ผู้จบฯ ปวช. อายุระหว่าง 21-30 ปี ทำงานไม่ตรงสายถึง 90%
ผู้จบฯ ปวส. อายุระหว่าง 21-30 ปี ทำงานไม่ตรงสายถึง 84%
สัดส่วนผู้สำเร็จอาชีวศึกษาที่ทำงานตรงสาย
ความต้องการแรงงาน แบ่งตามอุตสาหกรรม
ข้อมูลจากการสำรวจโดย TDRI (Thailand Development Research Institute) ในปี 2024 พบว่า ตลาดแรงงานไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการจ้างงาน และทักษะของตลาดแรงงานไทยมีลักษณะเป็นแรงงานทักษะต่ำ
จากข้อมูลการอนุมัติบัตรส่งเสริมฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2561 ถึงปี พ.ศ. 2566
หากจัดกลุ่มการลงทุนตามประเภทกิจกรรมหมวดใหญ่ จะพบว่า ในแง่เงินลงทุน อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีมีการลงทุนมากที่สุด (446,948 ล้านบาท) ตามมาด้วยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมสาธารณูปโภค ตามลำดับ
แต่หากพิจารณาตามจำนวนการจ้างงาน พบว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการจ้างงานมากที่สุด ตามมาด้วยอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ และอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ตามลำดับ
นอกจากนี้ทางมูลนิธิเอสซีจี ยังได้ทำการสำรวจเชิงลึกเพื่อค้นหาและทำความเข้าใจต่อทัศนคติต่อการเรียนรู้ รวมถึงการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่สำคัญมากต่อการทำงาน การมีเพียง Hard skills อาจไม่เพียงพอในสภาพแวดล้อมการทำงานในปัจจุบัน เพราะแม้ Hard skills จะเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการทำงานเฉพาะทาง เช่น ความสามารถทางเทคนิคหรือความรู้ด้านวิชาชีพ แต่การทำงานในองค์กรก็มักต้องการ Soft skills ร่วมด้วย
ดังนั้นการมีทั้ง hard skills และ soft skills จะทำให้บุคคลมีความสามารถในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงานได้ดี ซึ่งแน่นอนว่าในยุคนี้เราควรจะต้องมีทั้ง 2 ทักษะควบคู่กัน
ทั้งนี้ยังได้ร่วมกับบริษัท ฟาร์อีสท์ เฟมไลน์ ดีดีบี จำกัด (มหาชน) ทำการสำรวจเพิ่มเติมในกลุ่ม Newgen (GEN Y & Z) ช่วงอายุ 15-34 ปี กว่า 500 คน และกลุ่ม Opinion leader เพื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับทักษะที่ควรมีเพื่อสนับสนุนการอยู่รอดอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด LEARN to EARN จากผลสำรวจถึงทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เราพบว่าทักษะที่ส่วนใหญ่มองว่าเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็น เป็นทักษะ Soft Skills โดยมี Skill set ที่สำคัญดังนี้
นอกจากนี้ยังมีทักษะอื่น ๆ ที่ควรมี เช่น ภาวะความเป็นผู้นำ (Initiative Leadership) ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Personal Attributes) ความคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือทักษะที่อยู่นอกห้องเรียน ขณะเดียวกันก็นับเป็นส่วนหนึ่งของทักษะที่ต้องทำความเข้าใจและศึกษาไปตลอดชีวิตด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลทั้งหมดนี้แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเดินหน้าแบบก้าวกระโดดของโลก กำลังผลักดันให้เราออกไปเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ มากขึ้น ฉะนั้นการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป การจะดำรงชีวิตในโลกการทำงานที่เปลี่ยนไปจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
ในผลงานสำรวจนี้ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจอีกว่า Gen Z ถึง 50% ไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบอาชีพ / ศึกษาสาขาใด และมากกว่า 37% ที่ยังขาดคนให้คำปรึกษาหรือแนะนำในการศึกษาต่อ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีสถาบันหนึ่งที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ทันที นั่นคือสถาบันครอบครัว ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกฝังให้เด็กมี Mindset การรักที่จะเรียนรู้ เรียนรู้จากการเริ่มรู้จักตัวเอง รวมถึงพยายามค้นหาให้เจอว่าตัวเองชอบอะไร แล้วจึงเริ่มเลือกว่าจะเรียนรู้ พัฒนาทักษะใดต่อไป นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น
“การเรียนรู้เป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้มนุษย์รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร”
“คนให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากขึ้น เพราะโครงสร้างประชากรเปลี่ยนเร็วมาก เด็กลดลง แรงงานลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่าจะอยู่อย่างไรจากวัยเด็กสู่วัยสูงอายุจนเสียชีวิต”
“ปัญหาไม่ใช่เทคโนโลยีแต่ปัญหาคือชาวบ้านไม่มีทักษะที่จะใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์กับเขาได้เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่เราจะสอนให้เด็กนักเรียนมีทักษะเหล่านี้ ที่ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรมา จะไปช่วยไปเติมไปเสริมเขาได้”
“การเรียนรู้เพื่ออยู่รอด ใช้ 2 หลักการ คือ ยั่งยืน และยืดหยุ่น ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน แต่บางครั้งก็ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์”
ในยุคที่ทุกสิ่งเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วจนไล่ตามแทบไม่ทัน และผู้คนต่างมองหาความสำเร็จของชีวิต แต่จากเนื้อหาข้างต้นที่เราได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้น คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่ากว่าจะสำเร็จได้คงต้องอาศัยหลากหลายปัจจัย และคงต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะครอบครัว บุคลากรและผู้ที่มีส่วนร่วมเกี่ยวกับการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้นคือสามารถเริ่มต้นได้เลยที่ตัวเรา เริ่มเปิดมุมมองใหม่ ปรับตัวให้ทัน และพัฒนาตนเอง ซึ่งสิ่งที่ต้องมี และจะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ
1. ต้องมี Mindset การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็น Life long learner
2. ต้องใช้เวลาฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเพราะความรู้มีวันหมดอายุ
ปัจจัยที่กล่าวมานี้อาจไม่ใช่สูตรสำเร็จเพื่อเป็นทางเลือกของการมีชีวิตที่ราบรื่นขึ้น แต่หากหมายถึงเพื่อเป็นทางรอดของชีวิตในวันที่เราอาจถูกแทนที่ในโลกของการทำงานได้ทุกเมื่อ แม้ไม่มีใครทราบว่า 3-5 ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เหนือความคาดหมายอะไรเกิดขึ้นบ้าง การหยุดการเรียนรู้จึงเท่ากับหยุดการก้าวเดิน การเรียนรู้ที่หยุดนิ่งจะทำให้เราถูกทิ้งไว้ด้านหลัง และไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ เพราะสังคมการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งทำให้เราต้องตระหนักรู้ในการเลือก LEARN ที่นำมาซึ่งการ EARN ในการปรับตัวให้เรียนรู้เพื่ออยู่รอดอย่างมีจริยธรรมคุณธรรมควบคู่กันในสังคมได้ต่อไป