ความคืบหน้าล่าสุดการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 หรือเดิมเรียกกันว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เดินทางมาถึงช่วงเวลาที่เงินกำลังจะเข้าสู่กระเป๋าประชาชน กลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มเปราะบางรวมกว่า 14 ล้านคน ในช่วงวันที่ 25-30 กันยายน 2567 ซึ่งหมายถึงเงินกำลังหมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาท ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่จะมีการขยายฐานจำนวนประชาชนในการได้รับเงิน 1 หมื่นบาทในอนาคต
ไทยรัฐออนไลน์ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึงแผนการใช้เงินที่ได้รับโอนจากรัฐในโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้เพื่อการบริโภค อุปโภคในชีวิตประจำวัน และมีจำนวนหนึ่งที่มีแผนซื้อหลายประเภท จึงตอบมากกว่า 1 ข้อ มีรายละเอียดดังนี้
อันดับ 1 ซื้อของใช้ในบ้าน สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก จำนวน 4,384 คน คิดเป็น 63.67%
อันดับ 2 สินค้าเพื่อการศึกษา จำนวน 1,731 คน คิดเป็น 25.14%
อันดับ 3 ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 1,506 คน คิดเป็น 21.87%
อันดับ 4 สินค้าเพื่อการเกษตร จำนวน 1,171 คน คิดเป็น 17.01%
อันดับ 5 สินค้าไอที โทรศัพท์มือถือ จำนวน 1,108 คน คิดเป็น 16.09%
อันดับ 6 ยังไม่แน่ใจว่าจะซื้ออะไร จำนวน 1,094 คน คิดเป็น 15.89%
ผู้ตอบแบบสำรวจมีแผนจะใช้เงิน 1 หมื่นบาทหมดภายใน 30 วัน จำนวน 1,648 คน ใช้หมดภายใน 15 วันจำนวน 730 คน และภายใน 7 วัน จำนวน 703 คน และเกิน 30 วัน จำนวน 3,804 คน
ผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 6,885 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่อายุ 16-35 ปี 2,653 คน กลุ่มอายุ 36-55 ปี จำนวน 2,353 คน อายุ 56 ปีขึ้น จำนวน 1,592 คน และไม่เปิดเผยอายุ 287 คน
สำหรับรายได้ของผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวนผู้มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท มีจำนวนมากที่สุด คือ 3,737 คน ลงมาเป็นกลุ่ม 15,001-30,000 บาท จำนวน 1,247 คน ส่วนที่เหลือ 742 คน รายได้ 30,001-70,000 บาท และที่เหลือ 1,159 คนไม่เปิดเผยรายได้
...
เมื่อแยกตามพื้นที่อยู่ในกรุงเทพมหานครมากที่สุด จำนวน 1,743 คน ภาคกลาง 1,508 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,411 คน ภาคเหนือ 808 คน ภาคใต้ 702 คน ภาคตะวันออก 595 คน และภาคตะวันตก 118 คน