แม้สังคมเมืองจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยการแข่งขัน แต่ทว่ายังมีกลุ่มคนตัวเล็กที่ยังเดินไปข้างหน้าควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีในชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านความเชื่อที่ว่า การลงมือทำสิ่งเล็กๆ ย่อมส่งผลให้เกิดเป็นความยิ่งใหญ่ต่อสังคมได้ในวันหนึ่ง ด้วยสิ่งนี้เอง ปตท. จึงได้จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 และพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 ภายใต้แนวคิด “คนเล็ก เปลี่ยนโลก” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนและยกย่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสะท้อนการทำงานของคนธรรมดาทั่วประเทศกว่า 7,800 คน ที่ใช้ชีวิตร่วมกับการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

“คนเล็ก เปลี่ยนโลก” สะท้อนการลงมือทำสิ่งเล็กๆ ให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่

ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล ได้มุ่งมั่นให้การสนับสนุนและเชิดชูเกียรติคนตัวเล็กในระดับชุมชนที่สร้างพลังอันยิ่งใหญ่ต่อการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงเพราะสอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ที่ว่า “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” เท่านั้น แต่ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ช่วยสร้างพลังที่มีความหมายขึ้นในสังคม ผ่านการมองเห็นคุณค่าของกลไกเล็กๆ ในสังคมไทยอีกด้วย

พิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวด ส่วนรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชย ได้รับโล่พร้อมเกียรติบัตรจากองค์กรร่วมจัด อันประกอบด้วยมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมพัฒนาที่ดิน และ ปตท. โดยมีรางวัลทั้งสิ้น 32 ผลงาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทส่งเสริมการปลูกและขยายผล จำนวน 22 รางวัล และประเภทส่งเสริมหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก 10 รางวัล

ทั้งนี้ คุณสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กล่าวชื่นชมผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า นับเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยความหวงแหนและรู้คุณค่า รู้ใช้ รู้รักษา ขณะเดียวกันความสำเร็จจากการลงมือทำในแง่มุมต่างๆ ก็ยังเป็นตัวอย่างที่ดี และสามารถขยายผลต่อเนื่องไปสู่ชุมชนอื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งหญ้าแฝกไม่เพียงมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำได้เท่านั้น แต่ยังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกมาก ดังจะได้เห็นจากผลงานของผู้ที่นำหญ้าแฝกมาสร้างสรรค์เป็นงานหัตถกรรมในครั้งนี้

สำหรับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 ประจำปี 2567 มีผลงานที่ได้รับรางวัล รวม 38 ผลงาน แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ประเภทชุมชน จำนวน 10 ผลงาน ประเภทบุคคล จำนวน 5 ผลงาน ประเภทกลุ่มเยาวชน จำนวน 8 ผลงาน ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน จำนวน 12 ผลงาน ประเภทงานเขียน จำนวน 3 ผลงาน จากหลากหลายภูมิภาคทั่วประเทศ

ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการบริหาร สถาบันลูกโลกสีเขียว กล่าวว่าการทำงานของภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ คือการทำงานของคนตัวเล็ก แต่เป็นกลุ่มคนตัวเล็กที่รวมพลังกันทำภารกิจยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือและต่อสู้กับสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างในปัจจุบัน วันนี้การกล่าวว่า “คนเล็ก เปลี่ยนโลก” ก็ไม่ใช่การกล่าวอ้างเกินจริง เพราะผลลัพธ์จากการที่คนตัวเล็กลงมือทำ ได้ก่อเกิดเป็นผลสำเร็จขึ้นจริงแล้วในหลายส่วน การมอบรางวัลในครั้งนี้ ทั้งรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และรางวัลลูกโลกสีเขียว ช่วยสะท้อนได้อย่างดีว่า ยังมีกลุ่มคนตัวเล็กที่รวมตัวกันทำสิ่งเล็กๆ ที่มีความหมายยิ่งใหญ่อยู่ ทั้งนี้รางวัลต่างๆ จะมีความหมายมากขึ้นก็ต่อเมื่อได้รับการขยายผลและเผยแพร่ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้มากที่สุดด้วย ศ.ดร.สนิท ยังกล่าวชื่นชมอีกว่า วันนี้หลายชุมชนได้ขยายผลจนกลายเป็นต้นแบบที่น่าชื่นใจ ในขณะเดียวกันกับที่หลายชุมชนก็ได้ลงมือทำสิ่งเดียวกันนี้ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ต่อไปอย่างมุ่งมั่นอีกด้วย

จากรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ สู่พลังแห่งความยั่งยืน

นอกจากพิธีมอบรางวัลแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “คนเล็ก เปลี่ยนโลก” โดยคุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของคนตัวเล็ก รวมถึงมีการเสวนาของชุมชนต้นแบบในหัวข้อ “ชุมชนต้นแบบกับการจัดการทรัพยากรสู่ความยั่งยืน” โดยมีคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานกรรมการประเมินคุณค่าผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว นักเขียนสะท้อนสถานการณ์สังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนากับตัวแทนการทำงานชุมชนต้นแบบ ได้แก่ ชุมชนตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 ประเภท สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน กลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 ประเภทชุมชน ร่วมกับเครือข่ายคนรักษ์แฝก กับแนวทางเรื่องหญ้าแฝกกับการฟื้นฟูดินและน้ำ โดยทั้งหมดได้ร่วมสะท้อนแนวคิด รวมถึงแนวทางการทำงานภาคประชาชนที่ว่าด้วยการประสานความร่วมมือการทำงานระดับต่างๆ ช่วยสร้างความเข้าใจและพลังการทำงานจนเกิดผลสำเร็จได้

สำหรับสถาบันลูกโลกสีเขียว ที่ผ่านมานอกจากการมอบรางวัลเพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้ทำงานด้านการอนุรักษ์ให้กับทั้งบุคคล กลุ่มบุคคล และชุมชนต่างๆ แล้ว ยังได้เพิ่มบทบาทงานวิชาการ และการจัดการความรู้ในพื้นที่ รวมถึงส่งต่อความสำเร็จของชุมชนต้นแบบ สู่การประยุกต์ใช้ และขยายผลการอนุรักษ์ไปยังชุมชนอื่นๆ อีกด้วย หากนับตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งถึงปี 2566 ที่ผ่านมา มีผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียวทั้งสิ้น 842 ผลงาน ซึ่งช่วยรักษาและขยายพื้นที่ป่า สะสมกว่า 2.43 ล้านไร่ คิดเป็นศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน 49 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตามวิธีคำนวณของทีมวิจัย RECOFTC ประเทศไทย รวมถึงมีการจัดการองค์ความรู้แล้ว 14 องค์ความรู้

จากคำกล่าวที่ว่า “คนเล็ก เปลี่ยนโลก” จึงช่วยขยายภาพได้ชัดเจนว่า พลังจากคนธรรมดาในชุมชนที่ให้ความสำคัญและลงมืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง สามารถก่อร่างเป็นความสำเร็จได้จริง และกล่าวได้ว่าหลายชุมชนเหล่านั้นคือ ผู้ดูแลป่า รักษาผืนน้ำ ปกป้องผืนดิน และพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตัวจริง รวมถึงเป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง

รางวัลที่มอบสำหรับบุคคลต่างๆ ไปจนถึงชุมชนต้นแบบในครั้งนี้ ทั้งรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และรางวัลลูกโลกสีเขียว จึงเป็นมากกว่ารางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูการทำงาน เพราะสิ่งนี้หมายถึงการผลิดอกออกผลขององค์ความรู้ต่างๆ ด้านการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าเพื่อความยั่งยืน ที่หากสามารถต่อยอดและส่งต่อไปยังชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศได้อีก ก็จะช่วยปูทางสู่การสร้างความยั่งยืนที่แท้จริง

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดผู้ได้รับรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 และรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 ได้ผ่านทางเว็บไซต์สถาบันลูกโลกสีเขียว www.greenglobeinstitute.com รับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook และ YouTube: Green Global Institute