วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2567 นี้จะมีการเปิดงาน “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร” โดยจะเป็นจังหวัดนำร่องที่ 46 ตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ หลังได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มกำลัง

งานนี้จัดขึ้นที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมี นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเปิดตัวตราสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” อย่างเป็นทางการ

โลโก้ข้างต้นนี้ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์สวยๆติดไว้โก้เก๋ หากแต่มีไว้เพื่อใช้ในการรับรองคุณภาพและการเข้าร่วมโครงการของหน่วยบริการทั่วประเทศ พุ่งเป้าไปสู่การทำให้เกิดความพร้อมที่จะให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯได้ รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในการเข้ารับบริการของประชาชน

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน บอร์ด สปสช. ย้ำว่า การเปิดงานครั้งนี้จะเป็นการตอกย้ำการเดินหน้านโยบายนี้ของรัฐบาล สะท้อนถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจในการดูแลสุขภาพประชาชนไทย เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึง “สิทธิ” และ “บริการ”...ภายใต้ระบบ “บัตรทอง 30 บาท”

...

หัวใจหลักสำคัญอย่างหนึ่งของ “30 บาทรักษาทุกที่” คือการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการ มีสาระสำคัญคือการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่เข้ารับบริการ ระหว่างหน่วยบริการ สปสช.และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

“เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูล...เข้าถึงฐานข้อมูลตามสิทธิได้โดยสะดวก โดยมีการจัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลตามมาตรฐาน กฎหมายอย่างครบถ้วน ปลอดภัย”

ประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. บอกอีกว่า การดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง สปสช.กับหน่วยบริการ เช่น เชื่อมข้อมูลหน่วยบริการที่อัปโหลดไว้บนคลาวด์ทุกแหล่ง คลาวด์หมอพร้อม, กลาโหม, UHOSNET ฯลฯ

และ...สุดท้ายคือการเชื่อมข้อมูลระหว่าง “โรงพยาบาล” และ “คลินิกนวัตกรรม” ผ่านระบบ “Health Link” โดย BDI เช่น คลินิกเทคนิคการแพทย์, คลินิกกายภาพบำบัด โดยมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. ทั้งหมด 1,619 แห่ง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาฯ สปสช. เสริมว่า ที่ผ่านมาภายใต้บทบาทและหน้าที่ของ สปสช.เราได้เพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรมให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ การจัดหาหน่วยบริการทุติยภูมิเพิ่มเติม เพื่อลดความแออัดหน่วยบริการตติยภูมิ ยกระดับสายด่วน “1330” เพื่ออำนวยความสะดวก...ช่วยแก้ปัญหาต่างๆให้ประชาชน

นอกจากนี้ยังได้ขับเคลื่อนระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก รวมถึงการจัดระบบสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

ในทางปฏิบัติการเข้ารับบริการของประชาชน จะเริ่มที่หน่วยบริการสุขภาพใน “ระดับปฐมภูมิ” ก่อน นอกจากการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิประจำตามสิทธิของท่านแล้ว ยังสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการนวัตกรรม 7 แห่ง...ประมาณ 1,500 แห่ง ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ใช้เพียงบัตรประชาชน

สังเกตตราสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” ได้แก่ ร้านยาคุณภาพ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น

ทั้งนี้ ในส่วนของ “โรงพยาบาลรัฐ” สังกัดต่างๆนั้น เป็นหน่วยบริการในระดับ “ทุติยภูมิ” และ “ตติยภูมิ” จะเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องใช้ใบส่งตัว

นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร บอกว่า ในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเพื่อรองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพฯนั้น กรุงเทพมหานครพยายามที่จะทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของประชาชนอยู่ที่ตัวประชาชนจริงๆ ไม่ว่าประชาชนจะไปรักษาพยาบาลที่ใด

ทั้งโรงพยาบาลหรือระดับปฐมภูมิ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเอกชน รวมถึงร้านยา หน่วยบริการจะสามารถเห็นข้อมูลประวัติการรักษา ประวัติการแพ้ยา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากประชาชน นี่คือ...ความก้าวหน้าในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ

...

ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนของหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชื่อมโยงระบบข้อมูลครบทุกแห่งแล้ว ได้อัปเดตและนำเข้ารายชื่อแพทย์ในระบบพร้อมแล้ว โดยแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาที่ต้องการดูประวัติคนไข้สามารถเรียกดูประวัติผ่านระบบ HCIS และระบบ e-PHIC ได้โดยอัตโนมัติ

“รวมทั้งได้ทดสอบการแสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการ (ปิดสิทธิ) ด้วยสมาร์ทการ์ดและการส่งเบิกค่าบริการ 13 แฟ้มเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเป็นส่วนที่สนับสนุนการให้บริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ”

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ “BDI” ฝากทิ้งท้ายว่า ถึงวันนี้การเชื่อมโยงข้อมูลพร้อมเต็มระบบ รองรับครอบคลุมการบริการแล้ว อีกประเด็นสำคัญคือเรายังร่วมกับ สปสช.ในการพัฒนาระบบ AI เพื่อช่วยตรวจสอบความผิดปกติของ “ธุรกรรมการเบิกจ่าย”

รวมทั้งเชื่อมข้อมูลจากระบบ Health Link เข้ากับระบบตรวจสอบของ สปสช. เพื่อเพิ่มความเร็วในการตรวจสอบ ส่งผลให้หน่วยบริการสามารถเบิกจ่ายได้เร็วขึ้น และกำลังเตรียมขยายการเชื่อมข้อมูลสุขภาพให้รองรับการส่งต่อผู้ป่วย (Refer) ซึ่ง “หน่วยบริการ” สามารถส่งต่อการรักษาและประวัติการรักษาได้สะดวกมากขึ้น

...

เดินหน้า “30 บาทรักษาทุกที่” อย่างมั่นคงยั่งยืน...เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม