นับแต่ฤดูฝนกำลังย่างก้าวสู่ฤดูหนาว “การระบาดโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่” ก็ปรากฏพบแนวโน้มผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงมากขึ้นมาต่อเนื่อง

ด้วยลักษณะอาการใกล้เคียงกัน “จนเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะได้” ทำให้การระบาดเพิ่มสูงตาม “กรมควบคุมโรค” ที่รายงานสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 8-14 ก.ย.2567 มีผู้ป่วยใหม่รักษาในโรงพยาบาล 302 ราย เฉลี่ย 43 ราย/วัน เสียชีวิต 2 ราย “ไข้หวัดใหญ่” ตั้งแต่เดือน ม.ค.-7 ก.ย.2567 มีผู้ป่วย 491,719 ราย และเสียชีวิต 36 ราย

ทำให้ตัวเลขนี้จำเป็นต้องมอร์นิเตอร์วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการระบาดโควิด-19 แม้จะอยู่ในระดับต่ำแต่ก็ยังมีผู้ป่วยสูงเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่อาการจะไม่หนักหนาสาหัสเหมือนก่อน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หน.ศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ

...

สายพันธุ์โควิด-19 ระบาดในประเทศไทยคือ “JN.1 และ KP.3” ที่มีการพัฒนากลายพันธุ์ทำให้มีความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ได้ดี แต่ว่าเชื้อก็อ่อนแรงลงไปตามธรรมชาติของเชื้อไวรัสชนิดนี้ และบวกกับคนส่วนใหญ่เคยติดเชื้อ และฉีดวัคซีนกันจนมีภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความรุนแรงการติดเชื้อลงด้วย

ลักษณะอาการจะคล้ายไข้หวัด มีไข้ไอเจ็บคอและมีน้ำมูกเล็กน้อยจนบางคนคิดว่าเป็นอาการภูมิแพ้ทางเดินหายใจด้วยซ้ำ สิ่งนี้ล้วนเกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสกำลังปรับตัวเป็นโรคระบาดตามฤดูเหมือนกับตระกูลโคโรนาไวรัสที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้ เพียงแต่ไวรัสไม่นิ่งยังคงกลายพันธุ์อยู่ตลอด ทำให้ต้องเฝ้าระวังการระบาดใกล้ชิด

ตามข้อมูลในวันที่ 7 ม.ค.-7 ก.ย.2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 38,236 ราย เสียชีวิต 201 ราย ในระหว่างวันที่ 1-7 ก.ย. มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 314 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว แต่ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานจากหน่วยงานรัฐอาจจะไม่ตรงกัน

เพราะบางคนตรวจหาเชื้อที่บ้าน หรือมีอาการน้อยไม่ตรวจก็มี ส่งผลให้รายงานประจำเดือนส่วนใหญ่เป็นเคสอาการหนักนอนในโรงพยาบาล เหตุนี้ตัวเลขการติดเชื้อจริงๆ อาจมีจำนวนมากกว่าที่รายงานพอสมควร

ประเด็นมีอยู่ว่า “ฤดูฝน” โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนมานี้ปรากฏพบการระบาดของโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสอาร์เอสวีค่อนข้างมาก แถมอาการคล้ายกันแยกลักษณะการติดเชื้อไม่ได้ ทำให้การป้องกัน หรือการรักษาด้วยตัวเองทำได้ยากส่งผลให้แนวโน้มของผู้ป่วยหนักเพิ่มสูง และมีโอกาสการเสียชีวิตมากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ “คนมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก” โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวควรต้องเดินเข้าโรงพยาบาลให้แพทย์คัดกรองความเสี่ยงดีที่สุด เพื่อให้ทราบการติดเชื้อ นำไปสู่การรักษาให้ตรงตามแต่ละชนิดโรค

สำหรับกลุ่มอายุน้อย “ไม่มีโรคประจำตัว” ก็ยังพอซื้อยากินเองหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายปกติได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น 3-4 วันควรไปหาหมอตรวจรักษาตามอาการติดเชื้อดีที่สุด เพราะข้อมูล “ไข้หวัดใหญ่” สายพันธุ์ A (H1N1) มีผู้เสียชีวิต 36 รายส่วนใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป “ไม่มีประวัติฉีดวัคซีน” ทำให้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง

ทั้งควรรีบไปรับวัคซีนฟรีได้ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้านส่วน “อาร์เอสวี” พบการระบาดสูงในกลุ่มเด็กเล็ก และผู้สูงอายุมี โรคประจำตัว จำเป็นต้องตระหนักมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด

...

เช่นเดียวกับ “โควิด–19” แม้ระดับอาการอ่อนแรงก็ไม่ได้เกิดกับทุกคนโดยเฉพาะกลุ่ม 608 ถ้ามีไข้ ไอ เจ็บคอต้องตรวจคัดกรอง หากผลบวกควรไป  “รับยาต้านไวรัส” เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงโรครุนแรงในสัปดาห์ที่ 2 หลังติดเชื้อ

ปัญหามีอยู่ว่า “เกณฑ์กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ” ยังคงไม่มีตัวเลขชัดเจนอย่างองค์การอนามัยโลกใช้เกณฑ์ 60 ปีขึ้นไป ส่วนสหรัฐฯกำหนดใช้ 65 ปีขึ้นไป แต่ส่วนตัวมองว่าคนอายุ 60 ปี หรือ 65 ปีนั้น ตอนนี้น่าจะมีภูมิคุ้มกันแล้วควรขยับเกณฑ์อายุกลุ่มเสี่ยงเป็น 75 ปีขึ้นไปหากมีอาการควรรีบตรวจจะได้เข้าสู่การรักษาได้ทัน

ยกเว้นกลุ่มอายุน้อย “มีโรคประจำตัว” ก็ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงหากเริ่มมีอาการป่วยควรตรวจด้วย ATK ถ้าเป็นบวกต้องรีบไปพบแพทย์รับการรักษาพิจารณาจ่ายยาต้านไวรัสโดยเร็ว เพื่อจะได้ลดโอกาสป่วยรุนแรงลงได้

ถัดมาที่ยังเป็นกังวลคือ “คนไม่เคยรับการฉีดวัคซีน” แน่นอนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มักส่งผลให้อาการป่วยของโรครุนแรงมาก เพราะถ้าดูตัวเลขการเสียชีวิต 30% เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน แล้ว 60% ล้วนเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน หรือไม่ได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นเกินกว่า 3 เดือน

...

แล้วถ้าเป็นกรณี “กลุ่ม 608 ไม่เคยฉีดวัคซีนเลย” ยิ่งต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากมีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะมีน้ำมูกร่วมด้วย ต้องรีบเข้ารับการประเมินในโรงพยาบาลทันทีว่าติดเชื้อโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ หรืออาร์เอสวี เพื่อรับการพิจารณาจ่ายยาต้านไวรัสโดยเร็ว ลดโอกาสป่วยมีอาการรุนแรง

“อยากเน้นช่วงฤดูฝนที่มีการระบาดโควิด-19 กลุ่มเสี่ยง 608 แม้จะติดเชื้อแล้วอาการป่วยน้อยก็ควรไปโรงพยาบาลตั้งแต่สัปดาห์แรก เพื่อรับการรักษาพิจารณาจ่ายยาลดโอกาสป่วยหนัก เพราะถ้าเข้าสัปดาห์ที่ 2 หากไม่ได้รับยาต้านไวรัสมักมีอาการปอดอักเสบรุนแรงมากกว่าคนปกติจึงไม่ควรประมาทปล่อยผ่านกัน” ผศ.นพ.โอภาส ว่า

ตอกย้ำว่า “วัคซีนป้องกันโควิดมีความจำเป็น” แม้ปัจจุบันการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย JN.1 สายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอนไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิมในปีที่ผ่านมาก็ตาม “การฉีดวัคซีน” ก็ยังมีความจำเป็นสามารถลดการ แพร่ระบาด ลดความรุนแรงของอาการป่วย และลดการเสียชีวิตลงได้

...

เรื่องนี้ทั่วโลกยังแนะนำให้ “ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง” แต่ด้วยวัฒนธรรมคนไทยมักเกรงกลัวกับผลข้างเคียง “ส่งผลให้อัตราการฉีดวัคซีนกระตุ้นลดน้อยลงมาก” ยิ่งปัจจุบันการฉีดวัคซีนไม่ได้ฟรีแถมมีค่าใช้จ่ายแพง เพราะนโยบายรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญต่อวัคซีนเข็มกระตุ้นทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่ฉีดกัน

แตกต่างไปจาก “สิงคโปร์หรือไต้หวัน” ที่ยังให้ประชาชนฉีดฟรีกันอยู่ อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีระดับความปลอดภัยค่อนข้างสูง และมีองค์กรกลางด้านสุขภาพระดับโลกคอยเฝ้าติดตามประเมินกันอยู่ตลอด

นี่ย้ำภาพรวมของการระบาดโควิด–19 แม้สถานการณ์เบาบางแล้วแต่วัคซีนกระตุ้นยังจำเป็นในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคช่วยลดอัตราเจ็บป่วยรุนแรง และการเสียชีวิตได้ดีที่สุดทั้งตอนนี้และอนาคต...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม