วันนี้ (21 ก.ย. 67) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมฟีนิกซ์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุลชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทยและงานหัตถกรรม รอบตัดสิน ระดับภาค (Quarter Final) โดยมี นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี

การประกวดในครั้งนี้มี นายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบแฟชั่น) ประจำปี 2562 ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา เจ้าของแบรนด์ ISSUE นายอนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ช่างต้นแบบสิ่งทอ ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ ดร.กรกลด คำสุข และ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว. นางสาวมิลิน ยุวจรัสกุล นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ Milin พร้อมคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนและทีมงานกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้กรุณาให้เกียรติเชิญมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรมในวันนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรง "สืบสาน รักษา และต่อยอด" พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อันเป็นการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ที่ช่วยทำให้ประชาชนมีความสุข และยิ่งกว่านั้น ทำให้ได้โอกาสในการพัฒนาฝีมือการผลิตผ้าไทยและงานหัตถกรรมต่าง ๆ ด้วยการน้อมนำลายผ้าพระราชทาน องค์ความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาผลิตเป็นชิ้นงานที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดรายได้จากชิ้นงาน จากการใช้เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ผ้าไทย และงานหัตถกรรมไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น

"จากความสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนจากตัวเลข อันสะท้อนให้เห็นว่าพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เกิดรายได้จากผ้าไทยและงานหัตถกรรมเพิ่มขึ้นจากหลักพันล้านเป็นแสนล้าน โดยเฉพาะผ้าไทยมีรายได้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจริงภายในระยะเวลาแค่ 3-4 ปี สิ่งเหล่านี้เรียกว่าความสำเร็จที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในการช่วยกันสนองแนวพระราชดำริ ด้วยการทำให้งานทุกชิ้นงาน ทั้งผ้าไทย หัตถกรรมไทย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่มาจากทักษะฝีมือได้ตอบโจทย์และตอบสนองต่อรสนิยมของคนในสังคม ซึ่งแฟชั่นต้องมีการ "Change for Good" อยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้จากสิ่งที่พระองค์หญิงพระราชทานมาให้ คือ หนังสือ Thai Textiles Trend Book ทั้งการใช้สีธรรมชาติ ลายผ้าพระราชทานใหม่ ๆ อันมี Story telling มากมาย ซึ่งมีความหมายสื่อไปถึงความจงรักภักดีของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และประชาชนคนไทยทุกคนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการ "Change for Good" พัฒนาทักษะฝีมือ ซึ่งการใช้วิธีการประกวดถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ประการแรกคือ การสร้างแรงผลักดัน แรงบันดาลใจ และแรงจูงใจให้คนใหม่และคนเก่าได้แสดงออกความรู้ความสามารถที่เต็มไปด้วยความตั้งใจ ทุกคนที่มาประกวดไม่ใช่การผลิตเพื่อหารายได้ แต่เป็นการผลิตเพื่อเอาชนะตนเอง การพัฒนาทักษะมีฝีมือให้ดีขึ้น ได้แข่งขันด้วยความประณีต เอาใจใส่ เป็นเหมือนการบังคับให้ คนที่ประกวดได้มีประสบการณ์ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น เกิดการนำเอาภูมิปัญญามาผลิตผ้างานหัตถกรรมไทยที่มีคุณภาพสูงขึ้น และสิ่งที่เห็นได้ชัดเป็นประจักษ์พยานของการประกวดในแต่ละปี คือการมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดในแต่ละปีเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งในแต่ละชิ้นงานเต็มไปด้วยความสวยงาม สร้างสรรค์ มีการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตลักษณ์พื้นถิ่นพื้นที่ที่ใส่ลงไปบนชิ้นงาน สะท้อนให้เห็นปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ และการน้อมนำแนวพระดำริไปสู่พี่น้องประชาชน

"อีกประการหนึ่งคือคนในสังคมมีส่วนร่วมในการสร้าง Demand Side ซึ่งเป็นส่วนในการทำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งพระองค์หญิงได้พระราชทานให้ทีมงานดีไซเนอร์ และผู้เชี่ยวชาญภายใต้ชื่อ "คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก" ไปช่วยชาวบ้าน นำผ้าไทยไปออกแบบตัดเย็บ เราถึงมีเสื้อผ้าไทยที่สวยงามทันสมัย เป็นทั้งหมดมาจากการที่ผู้นำในสังคมช่วยกันส่งเสริมผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการสวมใส่ผ้าไทย เป็นการโน้มน้าวจิตใจให้คนได้เห็นคุณค่าว่าผ้าไทยไม่ใช่เพียงแค่ครึ่งนุ่งห่ม ไม่ใช่แค่แฟชั่น แต่เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือให้คนไทยมีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว หากสิ่งเหล่านี้สามารถเลี้ยงชีพคนไทยได้ เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่สืบทอดต่อจากบรรพบุรุษมาใช้ในการเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นความยั่งยืนที่ต้องอาศัยผู้นำในสังคมที่มี Leadership ทำให้เห็นความสำคัญและคุณค่าของผ้าไทย ที่จะส่งเสริมให้คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตชิ้นงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เหล่านี้มี Story มากมาย กว่าจะมาจนถึงวันนี้ ทั้งหมดเกิดขึ้นได้จากข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยที่ทุกคนได้ขับเคลื่อนผลักดัน กระตุ้นปลุกเร้าให้คนในสังคมได้สวมใส่ผ้าไทยในทุกวันและทุกโอกาส ซึ่งการเกิดความยั่งยืนได้ต้องอาศัยความต่อเนื่อง ดังที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ พระราชทานแนวพระดำริให้พวกเราชาวมหาดไทย เปรียบเสมือน Super Leadership ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม เกิดแรงศรัทธา ทำให้คนมานิยมสวมใส่ผ้าไทย และให้ข้าราชการชาวมหาดไทย โดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีแท้แน่นอนเป็น SDGs โดยแท้จริง จึงขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันขับเคลื่อน ขอให้การดำเนินการ นี้เป็นเหมือนหลักชัยในการทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป และขอให้ช่วยกันน้อมนำแนวพระราชดำริฯ ไปสู่ชีวิตประจำวัน สู่พี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง

"นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานมุ่งมั่นแน่วแน่ ในการทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ด้วยการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพวกเราทุกคนล้วนรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านช่วยทำให้เราข้าราชการชาวมหาดไทยสามารถทำหน้าที่ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" จึงขอให้ทุกท่านนำเอาแรงกระตุ้นไปทำงานให้เกิดผลกับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ดังที่ได้ยกย่องว่าทุกท่านคือทีมงานของพระองค์ในการช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนงานให้เกิดสิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนเป็นพลังของแผ่นดิน ด้วยการน้อมนำแนวพระดำริไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนคนไทย ช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยแนวทางหมู่บ้านยั่งยืน "Sustainable Village" ช่วยกันเป็นกำลังของประเทศชาติ รักษาภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทย ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นตราบนานเท่านาน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

ดร.วันดี กล่าวว่า ในฐานะนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มีโอกาสเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ได้ถวายงาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เรื่องผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทย ซึ่งนับเป็นสุดยอดแห่งความสำเร็จของวงการผ้าไทยที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ส่งรื้อฟื้นชุบชีวิตผ้าทอไทย ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่พระองค์ท่าน ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งทำให้คนไทยได้มีอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี และต่อมา พระเจ้าลูกเธอฯ ทรงมีความมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทรงพระราชทานลายผ้าพระราชทานทำให้ประชาชนทั่วประเทศได้นำมาใช้ในการออกแบบและผลิตผ้า เกิดรายได้หมุนเวียนจากการจำหน่ายผ้าไทยรวมทั้งประเทศ กว่า 8 หมื่นล้านบาท สามารถพลิกโฉมแนววงการผ้าไทยได้อย่างมาก ทำให้องค์การสหประชาชาติให้การชื่นชมและ น้อมนำแนวพระราชดำริ ไปนำเสนอในเวทีนานาชาติ ให้ประเทศไทยได้รับเกียรติในการเป็นโมเดล ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งของพวกเราชาวมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย

ดร.ศรินดา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราทุกคนได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ให้กับวงการผ้าไทยของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การลงพื้นที่ไป coaching ให้กับประชาชน การจัดการประกวดผ้า การส่งเสริมให้เกิดการยกระดับผลิตภัณฑ์ ผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทย ซึ่งมาจากแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ที่พระองค์ทรง "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" ซึ่งความเข้าใจมาจากการที่พระองค์ทรงศึกษาออกแบบด้านดีไซเนอร์ เข้าถึง คือการที่พระองค์ได้เสด็จพระดำเนินลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน พัฒนาคือการส่งทีมดีไซเนอร์นักออกแบบ ที่เปรียบเสมือนหน่วยแพทย์พระราชทานลงพื้นที่ไปคอยให้คำปรึกษาโค้ชชิ่ง นำความรู้ไปพัฒนาในการผลิตผ้า ซึ่งส่งผลก่อให้เกิดรายได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน

คุณธนันท์รัฐ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระดำเนินไปร่วมปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้หลายพื้นที่ จากการติดตามพระองค์ท่านไปทรงงานในที่ต่าง ๆ เราจะเห็นได้ว่า พระองค์ใส่พระทัยกับงานอย่างยิ่ง ในการบรรยายในพื้นที่ต่างๆ ทรงบรรยายเรื่องหนังสือสีย้อมร้อน แนวทางในการออกแบบหนังสือแฟชั่น จากองค์ความรู้ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะที่พระองค์ได้ศึกษาด้วยตนเองอย่างถ่องแท้ ทั้งยังให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการปลูกผักสวนครัว ลดรายจ่าย สามารถพึ่งพาตนได้ ก่อให้เกิดกระแสผ้าไทย จนมีผู้ผลิตและผู้ประกอบการผ้ามากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ได้รับประโยชน์จากแนวพระดำริของพระองค์ท่าน และสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากการช่วยสนองแนวพระราชดำริของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ที่ทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนจากแนวพระราชดำริไปสู่พี่น้องประชาชน

นายสยาม กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม มีผู้ประกอบการ OTOP ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ส่งผลงานเข้าประกวดแบ่งเป็นประเภทผ้า 8,117 ผืน และงานหัตถกรรม 534 ชิ้นงาน รวมทั้งสิ้น 8,651 ชิ้นงาน โดยในรอบตัดสิน ระดับภาค (Quarter Final) มีผ้าและงานหัตถกรรมผ่านเข้ารอบ จำนวน 355 ชิ้นงาน ประกอบด้วย ประเภทผ้า จำนวน 334 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 21 ชิ้นงาน