สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพิธีเปิดหลักสูตรนักธุรกิจไทย-ตะวันออกกลาง 13.00-18.00 น. เสาร์ 21 กันยายน 2567 ชั้น 1 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาฯ หลังจากมีการแสดงพิเศษชุดอาหรับยินดีแล้ว ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ในฐานะประธานที่ปรึกษาฯ กล่าวเปิดหลักสูตรฯ และปาฐกถาพิเศษ

ตามด้วยการบรรยายหัวข้อความสัมพันธ์ไทยกับตะวันออกกลาง โดย ฯพณฯ สุวัฒน์ จิราพันธุ์ อดีตกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ซาอุฯ และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปิดท้ายด้วยการบรรยายของ รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผอ.สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สำหรับนิสิตในหลักสูตรนี้พบกันครับ

ช่วงที่นายโมฮัมเหม็ด ซาอิด โคจา เป็นอุปทูตซาอุฯ ประจำไทย มีเหตุการณ์ที่ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ร้าวอยู่ 2 เรื่อง 1.นายเกรียงไกร เตชะโม่ง เพิ่งขโมยเพชรจากซาอุฯมาไทย 2.นายอับดุลเลาะห์ อัลเบซรี นายฟาฮัด อัลบาห์ลี และนายอาเหม็ด อัลซาอิฟ นักการทูตของสถานทูตซาอุฯ และนายมุฮัมหมัด อัลรูไวรี พระญาติกษัตริย์ซาอุฯ ถูกฆ่าตายในไทย

อุปทูตโคจาหมดวาระจากไทยได้ไม่นาน พ่อผม คือ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ได้รับพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานฉบับภาษาอังกฤษ และอินทผลัมจากเจ้าชายพระองค์หนึ่งของซาอุฯ ส่งมาให้ที่โรงพิมพ์ไทยรัฐ

ค.ศ.2012 นายนาบิล อุสเซน อัชรี นักยูโดสายดำและอดีตคอลัมนิสต์ด้านการต่างประเทศของหนังสือพิมพ์อัล บิรัต และอัลจาซีรา ลาออกจากงานคอลัมนิสต์มาดำรงตำแหน่งอุปทูตประจำไทย

ถึงเมืองไทยก็โทร.ถึง ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ ท่านแจ้วว่าพ่อผมเกิดวันเดือนปีเดียวกับท่าน ท่านเชิญพ่อและพี่ชายผม (เนติภูมิ) ไปทานข้าวที่ทำเนียบทูต หลังจากนั้นก็ติดต่อกันสม่ำเสมอ กระทั่งท่านกลับไปเป็นผู้ใหญ่ประจำกระทรวงการต่างประเทศของซาอุฯ

...

ในอดีตพ่อผมสนใจคดีนักการทูตซาอุฯ ถูกฆ่าในไทย ถึงขนาดบินไปสืบสวนหาข่าวเรื่องอิหร่านตามล่านักการทูตซาอุฯ ในปากีสถาน อิหร่าน ไนจีเรีย และในยุโรป ก่อนหมดวาระ อุปทูตนาบิลจัดงานเลี้ยงที่ห้องสัตตบงกชของกระทรวงการต่างประเทศ ถนนพญาไท โดยท่านชวนแขกส่วนตัวไปร่วมงานเลี้ยงเพียง 6 ท่าน

อุปทูตนาบิลโทร.มาบอกพ่อผมว่า “หนึ่งในหก ผมอยากเชิญคุณนิติภูมิไปด้วยครับ”

วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป 1 ทศวรรษ ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ปรับปรุงอย่างมากในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จนมีความสัมพันธ์ในระดับปกติ เบอร์ 1 ของทั้งสองประเทศ ไม่ใช่อุปทูตแล้ว แต่เป็นเอกอัครราชทูต

ฝ่ายซาอุฯ คือ ฯพณฯ อับดุรเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี สำหรับไทยเราส่ง ฯพณฯ ดามพ์ บุญธรรม ไปเป็นเอกอัครราชทูต

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรนักธุรกิจไทย-ตะวันออกกลาง โดยมี ฯพณฯ ดามพ์ เป็นประธานหลักสูตร ดร.วิริยะ ลิขิตวงศ์ เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร มีที่ปรึกษาหลักสูตรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางอย่างเช่น ฯพณฯ สุวัฒน์ จิราพันธุ์ ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ อ.ไฟโรส อยู่เป็นสุข ฯลฯ

เมื่อผู้อำนวยการฝ่ายแผนและนโยบายของหลักสูตรโทร.มาหาพ่อผม เพื่อเชิญเป็นประธานที่ปรึกษาฯ พ่อผมตอบรับทันที ด้วยความมุ่งหวังตั้งใจว่า จุฬาฯจะสร้างนักธุรกิจไทย-ตะวันออกกลาง ที่เป็นมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจไทยในตะวันออกกลาง สามารถแข่งขันในโลกการค้าและการส่งออก ได้อย่างสมบูรณ์

หลักสูตรนี้เป็นรุ่น 1 ที่เน้นการค้าการลงทุนกับซาอุดีอาระเบีย และจะเริ่มเปิดในวันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2567 รายละเอียดติดต่อทางหลักสูตรกันเองครับ ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรีชั้น 10) จุฬาฯ โทร.06-4714-4353 ผู้อ่านท่านที่เคารพ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯ ที่หายไป หลายสิบปี สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยหลายล้านล้านบาท ได้กลับมารื้อฟื้นคืนดี ต้องขอบคุณทางจุฬาฯ ที่สร้างหลักสูตรคุณภาพที่อยู่ในโลกของความจริงให้กับราชอาณาจักรไทย.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com 

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่