มท. ลงนาม MOU ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย พัฒนานวัตกรรมการจัดการด้านดูแลติดตามและเฝ้าระวังสุขภาพผู้สูงอายุ

วันที่ 17 ก.ย. 67 ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ศาสตราจารย์นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช ประธานรับเลือกราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนโครงการพัฒนานวัตกรรมการจัดการด้านดูแลติดตามและเฝ้าระวังทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักรวมถึงการหักซ้ำ ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ดังที่ศาสตราจารย์นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช ประธานรับเลือกราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า สังคมไทย 5 คน มีผู้สูงอายุ 1 คน เพราะเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเรื่องสำคัญที่ทุกคนทราบว่าเด็กที่มีกระดูกแข็งแรง ก็จะทำให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ขอให้ทุกคนตระหนักว่า รากฐานของชีวิตที่ดีขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ตั้งแต่คู่สมรสที่จะมีลูกต้องดูแลสุขภาพให้ดี เมื่อตั้งครรภ์ทั้งแม่และเด็กต้องได้รับการดูแลที่ดีจากคนรอบข้าง เพราะสภาวะวิกฤตของสังคมโลก ซึ่งสะท้อนจากที่สภาวะเด็กคลอดก่อนกำหนด เนื่องมาจากเพศหญิงยังไม่พร้อมในการมีลูก เป็นต้น นอกจากนี้ การดูแลเด็กหรือลูกของครอบครัว ต้องมีความรู้ ต้องมีโปรแกรมที่ทำให้คนท้องได้อยู่ในความดูแลของคุณหมอ และเมื่อคลอดออกมาแล้วก็จะได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ทั้งการได้รับนมแม่ การได้รับวัคซีน การส่งเสริมให้คนในครัวเรือนได้เลี้ยงดูอย่างถูกวิธี ตลอดจนเมื่อเติบโตขึ้นแล้วต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน อาทิ การรับประทานไข่ไก่วันละ 3 ฟอง รวมถึงเรื่องการส่งเสริมให้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

...

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวด้วยว่า ขอเป็นกำลังใจให้ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ตลอดจนพี่น้องบุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีความมุ่งหวังในการช่วยกันขจัดความทุกข์ของผู้สูงอายุ ทั้งการสร้างองค์ความรู้ ระบบในการเฝ้าระวัง และเป็นตัวแทนทุกภาคส่วนในเรื่องการดูแลช่วยทำให้ผู้สูงอายุและผู้ที่พลัดตกหกล้มได้ไปถึงมือแพทย์ในเวลาอันรวดเร็ว และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งองค์ความรู้ในเรื่องสำคัญในระยะต่อไปที่ต้องทำควบคู่กันคือการดูแลสุขภาพอนามัยของคนทุกช่วงวัย ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงเติบโต ให้ทุกคนได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ได้ออกกำลังกาย และได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีหลักการปฏิบัติและดำรงชีวิตในลักษณะ “Safety First” หรือวัฒนธรรมความปลอดภัย ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในทุกมิติ

ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช ประธานรับเลือกราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในนามของตัวแทนราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย มีความภาคภูมิใจที่ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือกับ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งในวันนี้จะเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งของการดูแลสาธารณสุขของประเทศไทย เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว กล่าวคือ อัตราส่วนประชากรของคนไทย ใน 5 คน มีผู้สูงอายุ 1 คนในนั้น และอีก 4 คนจะต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการดูแลผู้สูงอายุ 1 ท่าน หากท่านนี้มีความแข็งแรงและมีสุขภาพที่ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญที่จะดูแลอีก 4 ท่าน ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่ให้ความสำคัญเล็งเห็นถึงความสำคัญของสังคมผู้สูงอายุ

"อัตราของผู้สูงอายุมีการหกล้ม อาจมีโอกาสสูญเสียชีวิตถึงร้อยละ 40 หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้น หากเราป้องกันการพลัดตกหกล้มได้สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุของเรากลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้" ศาสตราจารย์นายแพทย์กีรติฯ กล่าว