วันนี้ (17 ก.ย. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าเมื่อวานนี้ช่วงเย็น ได้เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม Kick off โครงการพุทธอารยเกษตรวัดระฆัง-กระทรวงมหาดไทย ที่คลอง 15 จังหวัดนครนายก ณ พื้นที่โครงการอารยเกษตร คลอง 15 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยได้รับเมตตาจากพระราชสิทธิวราจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 12 เจ้าอาวาสวัดประสิทธิเวช พระราชวชิรโมลี รองเจ้าคณะภาค 14 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอุดมวชิรนายก เจ้าอาวาสวัดอุดมธานี พระอารามหลวง เจ้าคณะอำเภอเมืองนครนายก ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะจังหวัดนครนายก พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยพระเถรานุเถระ ร่วมประกอบพิธี โดยมี นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก คณะผู้บริหารจังหวัดนครนายก หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายโคก หนอง นา คณะทำงาน Change for Good และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ร่วมพิธี

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นายศรัณย์ศักดิ์ ศรีเครือเนตร รองอธิบดีกรมการปกครอง นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ร่วมพิธี ประกอบพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้มีจิตศรัทธาที่ถวายที่ดิน 150 ไร่ เสร็จแล้วนำคณะฯ รับชมนิทรรศการ ได้แก่ ความเป็นมาของพื้นที่วัดระฆัง สู่แนวทางการดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่งานพุทธอารยเกษตร โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ชุมชน โคก หนอง นา อารยเกษตรโดย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก พร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน ข้าวปลูก ข้าวเปลือก โดย อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก จากนั้นร่วมรับชมการแสดง "วิถีวัฒนธรรม ไทย - พวน อำเภอปากพลี โดย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก แล้วกล่าวเปิดงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเห็นผลงานของพี่น้องประชาชนจังหวัดนครนายก ที่มาจากการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในส่วนภูมิภาค ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก และในส่วนกลาง โดยอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ตลอดจน 7 ภาคีเครือข่าย ที่มาทำให้เกิดสิ่งที่ดีเกิดขึ้นกับแผ่นดินที่เป็นบุญกุศลของมวลมนุษยชาติ ที่มาจากครอบครัวเจ้าของที่ดิน คุณหญิงสรกิจ พิศาล (ชลอ อมาตยกุล) นางแนบ มหานีรานนท์ และนายเสถียร นุตยางกูร ซึ่งทั้ง 3 ท่านมีจิตอันเป็นกุศลนำที่ดินของครอบครัวมาอุทิศถวายไว้เป็นสมบัติของพุทธศาสนาภายใต้การดูแลของคณะสงฆ์วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร จำนวน 150 ไร่ ซึ่งพื้นที่นี้เป็นทำเลทอง ถ้าหากพวกเรามาในวันหยุดต้องจอดรถเดินไกล เพราะจะเนืองแน่นไปด้วยคนจากทุกสารทิศที่มาซื้อไม้ดอกไม้ประดับ และอื่น ๆ ไปจัดสวนและตกแต่งบ้าน ที่ทราบเพราะว่า เคยดำรงตำแหน่งทั้งรองผู้ว่าราชการ และผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก จึงเรียกว่าที่ดินแห่งนี้อุดมไปด้วยบุญกุศล จากเจ้าของที่ดินและคณะสงฆ์วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ที่พระคุณท่านมีจิตกุศลอันแน่วแน่ที่จะนำพื้นที่แปลงนี้มาทำประโยชน์เพื่อมวลมนุษยชาติ และเล็งเห็นความสำคัญที่ไม่ได้แค่เพียงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่รวมไปถึงการสนองแนวพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณประเสริฐยิ่งของพวกเราทุกคนในการทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"

"กระทรวงมหาดไทย ได้รับเมตตาจากพระเทพประสิทธิคุณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร จึงได้ ลงมาบันทึกความร่วมมือ (MOU) อนุญาตให้กระทรวงมหาดไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจังหวัดนครนายกเข้ามาร่วมพัฒนาที่ดินของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร จำนวน 150 ไร่ และจัดตั้งเป็น "ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตามแนวทางพุทธอารยเกษตร สู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน" โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีภาควิชาการ ทั้งสองอาจารย์ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และรศ.ดร.อมร กฤษณพันธุ์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ท่านได้นำคำแนะนำดี ๆ แนวทางดี ๆ ในการทำให้ประเทศชาติของเรามั่นคง ประชาชนมีความสุข จากมันสมองของท่านคณาจารย์ รวมทั้งเรื่องการออกแบบพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้ได้สนองเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ ของคณะสงฆ์วัดระฆังฯ ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันเป็นการสนองพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประเทศชาติจะมั่นคง ได้คำตอบ คือ ประชาชนทั้งหมด ต้องมีความสุข ซึ่งทุกคนต้องมีแนวทางแนวปฏิบัติของชีวิตที่ถูกต้อง เพราะจากสถานการณ์ปัจจุบันนั้นคนไทยจำนวนมากใช้ชีวิตผิด อาทิ การประกอบอาชีพที่ไม่ยั่งยืน ซึ่ง ทุกคนจะต้องช่วยกันสามารถแก้ไขในสิ่งผิด" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่กระทรวงมหาดไทยร่วมกับวัดระฆังโฆสิตาราม และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน คือ การสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธาน ของพระองค์คือทำอย่างไรทำให้คนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง อย่างมีความสุข ซึ่งคำตอบคือการทำให้พี่น้องประชาชนได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อารยเกษตร ซึ่งพระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสต่อพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ความว่า “โคก หนอง นา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน...โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว ก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้อง และเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 ...อารยะ คือ เจริญแล้ว เจริญแล้วก็ต้องเจริญในใจก่อน ประเทศเรารวยที่สุดคือ อารยธรรม เรียกได้ว่าเป็น "Cultural Heritage" เมืองไทยมีวัฒนธรรม คนไทยใจดี มีเมตตา ธรรมะ ธรรมโม มีความรู้เรื่องศาสนา มีศาสนาต่าง ๆ ที่รักษาไว้ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะต่าง ๆ ที่รักษาไว้ วัฒนธรรมของเรา มี "Culture" หรือ การเป็นคนไทย ประเทศอื่นไม่มี บ้านเรามีวัฒนธรรม มีความเป็นคนไทย เราจึงรอด แต่ไม่ใช่เราคร่ำครึ ประเทศที่มีวัฒนธรรม ไม่ใช่เอาของต่างชาติมาใช้หมด เทคนิคของต่างชาติ เทคโนโลยีของต่างชาติก็ดี แต่เราก็ต้องนำมาใช้ให้เหมาะสมในบ้านเรา

"ทั้งหลายทั้งปวง สะท้อนให้เห็นว่าที่พระองค์ได้ตรัสทุกประการนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งรายละเอียดในการปรับปรุงพื้น ที่มีมิติของความสวยงามขึ้นมา พูดง่าย ๆ คือการทำที่ดินเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เป็น "รีสอร์ท" ซึ่งประชาชนทุกคน สามารถทำมาหากิน ไม่เป็นหนี้เป็นสิน และปลายทางทำให้ประชาชนมีความสุข แต่ยังไม่สมบูรณ์ จนมาเจอคณะสงฆ์วัดระฆังฯ คือการทำให้อารยเกษตรเป็น "พุทธอารยเกษตร" ซึ่งนอกจากเป็นการใช้ที่ดินแล้วยังจะทำให้โลกเกิดสันติสุขในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศและระดับโลก นั่นคือการทำให้คนได้ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้เพิ่มพูนเอาใจใส่ในเรื่องของ การยกระดับจิตใจให้ไม่เบียดเบียนใคร ด้วยการและไม่เบียดเบียนโลก ละเว้นในการกระทำในสิ่งที่ไม่ดี ควบคู่กับหันไปทำสิ่งที่ดีควบคู่กับการทำมาหากิน ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่ 150 ไร่ จึงมีนัยยะเชื่อมโยงกันดั่งใยแมงมุม ที่มีความเหนียวแน่นแข็งแรงเป็นสายใยที่ไม่อาจทะลุผ่านไปได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องรองรับให้ผู้คนมาใช้ชีวิตในการแสวงหาสิ่งที่ดี แล้วกลับไปให้กับตัวเอง แล้วกลับไปทำในพื้นที่ของตัวเองอย่างมีความสุข ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่อง "น้ำ" แต่คือทุกเรื่องที่ทำให้คนในพื้นที่มีความสุข ไม่ว่าจะเป็น ดิน ฟ้า อากาศ สภาพแวดล้อม ซึ่งทุกมิติเกี่ยวข้องกันทั้งหมด การบริหารชีวิตต้องมีความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎีรวมถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามศาสตร์พระราชา หลักบันได 9 ขั้น "พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาช่วยกันในที่แห่งนี้ ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกช่วงวัย คำนึงทุกสิ่งมีชีวิตและเผื่อแผ่ไปถึงการทำให้ชุมชน สังคมให้ดีงาม และท้ายที่สุดคือการช่วยกันสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอขอบคุณพระคุณท่านทุกรูปของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ที่ได้เมตตาให้กระทรวงมหาดไทย ได้นำพื้นที่แห่งนี้ได้มาทำบุญกุศลซึ่งเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่อุทิศ ถวายแด่ดวงวิญญาณของเจ้าของพื้นที่และผืนแผ่นดินของประเทศไทย ด้วยการทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบตามแนวพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหวังว่าพวกเราทุกคน ตลอดจน 7 ภาคีเครือข่าย จะช่วยสนองเจตนารมณ์ของผู้นำศาสนา ทำให้พื้นที่ของวัดระฆังฯ แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่มีความดีอย่างยั่งยืน รองรับผู้คนจากทุกสารทิศ ที่จะมาพึ่งพาอาศัยทั้งในแง่ของการให้สติปัญญา ทำมาหากิน การดูแลชีวิตให้มีความสุข รวมถึงให้หลักธรรมคำสั่งสอนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้ที่ดีงาม และครองชีวิตให้ไม่เบียดเบียนใคร และเป็นประโยชน์กับผู้อื่น ซึ่งทุกคนที่มาในวันนี้ต้องร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ช่วยกันพูดคุยเสริมเติมแต่ง ทำให้พื้นที่แห่งนี้ ได้อยู่อย่างยั่งยืน สืบสานให้พี่น้องประชาชนให้ได้รู้จักความยั่งยืน ด้วยการทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน และขอให้พวกเราทุกคนได้ช่วยกันเป็นพลังของแผ่นดินช่วย "Change for Good" ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งที่แห่งนี้ และทั่วประเทศไทย ให้เกิดความยั่งยืน สืบไป