น่าประหวั่นหัวใจกรณีสำนักงาน ศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) มีหนังสือถึงสำนักงานที่ปรึกษาการต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่งว่า... “ทางการจีน” ตรวจพบการปนเปื้อน “แคดเมียม” ในทุเรียนส่งออกไปจีนของไทยปี 2567 จำนวน 6 ครั้ง 16 ชิปเมนต์
และ...ขอให้ไทยระงับการส่งออกบริษัทส่งออก (PC) โรงคัดบรรจุ และสวน (GAP) ที่พบปัญหาชั่วคราว พร้อมให้ไทยเข้มงวดการส่งออกทุเรียนที่อาจจะมีแคดเมียมปนเปื้อน
บันทึกข้อมูลเปิดเผยย้อนไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร ส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ
เชิญประชุมหารือแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาการตรวจพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียน
ส่งออกไปจีน ที่ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์ปฏิบัติการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร แถลงหลังเป็นประธานประชุมว่า...
หลังตรวจพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนส่งออกไปจีนในปี 2567 จีนได้มีการแจ้งเตือนมาตั้งแต่ 11 มี.ค.2567 จนถึงปัจจุบัน (ส.ค.67) มีการแจ้งเตือนจำนวน 6 ครั้ง กรมวิชาการเกษตรได้สั่งระงับการส่งออกทันทีที่ตรวจพบ ทั้งในส่วนของโรงคัดบรรจุและสวนที่ระบุแล้ว
...
พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดิน น้ำ ปัจจัยการผลิต ทุเรียน เพื่อหาสารแคดเมียม ซึ่งจากการตรวจสอบตัวอย่างพบตัวอย่างแคดเมียมแต่ไม่เกินมาตรฐานที่จีนกำหนดที่ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ประเด็นสำคัญมีว่า...มีรายงานว่าคณะกรรมการฯกรมวิชาการเกษตร ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ (ขณะนั้น) สั่งการให้ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว และทราบแหล่งที่มาของทุเรียนที่ทางการจีนตรวจพบการปนเปื้อนของแคดเมียมแล้วเช่นกันว่ามาจากที่ใด
ชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก มองว่า กรณีตรวจพบแคดเมียมในทุเรียนส่งออกของไทยเกินค่ามาตรฐานเพิ่งมีครั้งแรกปี 2567 อาจจะมาจากสภาพดินและน้ำในพื้นที่ปลูกทุเรียนในไทย หรือมีการนำทุเรียนจากประเทศอื่นมาสวม สิทธิทุเรียนไทย ซึ่งต้องหาสาเหตุให้ได้ก่อนว่ามาจากไหน
ถ้าเป็นทุเรียนในประเทศไทย ต้องรู้แหล่งที่ปลูกเพื่อจะตรวจสอบสภาพดิน น้ำ และการใช้สารเคมีของสวนนั้นๆ หรือ ถ้าพบว่าเป็นการสวมสิทธินำทุเรียนจากประเทศอื่นเข้ามาจะต้องมีการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องสอบสวนหาสาเหตุให้กระจ่างชัด
มุมมองภาคเอกชน ณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ย้ำว่า ในฐานะเป็นผู้ส่งออก ที่ให้ความสำคัญและเข้มงวดกับเรื่องนี้มาตลอด รวมทั้งมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มีการตรวจสอบสารตกค้างกว่า 250 ชนิดในผลไม้ทุกลูกที่เราส่งออกตามข้อกำหนดของ อย.
จากประสบการณ์กว่า 30 ปี ขอตั้งข้อสังเกตว่า...โดยธรรมชาติพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนของประเทศไทยไม่เคยตรวจพบปัญหาสารตกค้าง โดยธรรมชาติของสารตกค้างอย่าง “แคดเมียม” ที่เป็นโลหะหนัก มักจะอยู่ในดินที่อาจเคยเป็นพื้นที่เหมืองหรืออุตสาหกรรม
“ประเทศไทยที่มีการทำพื้นที่เกษตรมาเป็นระยะเวลานาน ปัญหานี้จึงไม่เคยเกิดขึ้นและไม่น่าจะเกิดขึ้น จะต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจมีการทำสวนในพื้นที่เปิดใหม่ ที่เดิมเคยเป็นพื้นที่เหมือง หรืออยู่ใกล้พื้นที่อุตสาหกรรม”
ที่ผ่านมาเราเข้มงวดมากเพื่อป้องกันไม่ให้ทุเรียนที่จะส่งออกมีปัญหาตั้งแต่ต้นทาง โดยทุกสวนที่เรารับซื้อทั้งกลุ่มสวนที่รับซื้อ ประจำและสวนใหม่ที่เพิ่งเข้าไปรับซื้อ บริษัทจะมีการเข้าไปทดสอบดิน เพื่อตรวจสารตกค้างโดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน “Global GAP” ควบคู่กับดูสภาพดินเพื่อปรับปรุงคุณภาพให้สามารถมีผลผลิตดีขึ้น
...
“การตรวจสอบจะมีทีมเข้าไปจัดเก็บและส่งดินไปให้หน่วยงานกลางทำการทดสอบวัดคุณภาพและตรวจสารตกค้าง”
ย้ำว่า...มาตรฐาน Global GAP จะเป็นเกณฑ์ที่มีความเข้มงวดสูง สามารถส่งออกได้ทั้งตลาดยุโรป จีน และอินเดีย เพื่อให้ผู้บริโภคปลายทางทุกตลาดมั่นใจได้ว่าผลไม้ที่ส่งออกไร้สารตกค้างที่เกินมาตรฐาน
ผลการตรวจสอบที่ผ่านมาทุกสวนทุเรียนที่เราเข้าไปรับซื้อยังไม่เคยพบสารตกค้างในดิน ไม่ว่าจะเป็นที่จันทบุรี ระยอง ตราด รวมถึงในภาคใต้ที่ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช (รับซื้อในบางพื้นที่)
ประพันธ์ แดงพรม ผู้ช่วยเลขาสมาพันธ์ทุเรียนไทย และประธานแปลงใหญ่ทุเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช บอกว่า ได้เก็บตัวอย่างผลทุเรียนในแปลงปลูก 3 อำเภอ ประกอบด้วยนบพิตำ ร่อนพิบูลย์ และพระพรหม ส่งตรวจหาการปนเปื้อนแคดเมียมในเนื้อทุเรียนที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
ผลออกมา (10 ก.ย.67) พบว่า แคดเมียมเพียงร้อยละ 0.002 น้อยกว่าที่ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดไว้ว่าจะต้อง พบการปนเปื้อนแคดเมียมไม่เกินร้อยละ 0.05
...
นี่เป็นหลักฐานสำคัญว่า...พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและทุเรียนจากนครศรีธรรมราชไม่มีการปนเปื้อนแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน และการเก็บตัวอย่างผลทุเรียนส่งตรวจครั้งนี้ นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดแรกในภาคใต้ที่มีการเก็บตัวอย่างผลทุเรียนส่งตรวจ เพราะต้องการให้เกิดความชัดเจน
“เนื่องจากขณะนี้...ข่าวการระงับการส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีนเพราะพบการปนเปื้อนแคดเมียมตรงกับปลายฤดูเก็บเกี่ยวกับทุเรียนในภาคใต้ จึงเกิดความสงสัยของหลายคน นอกจากนี้ยังอยากให้ทุกจังหวัดในภาคใต้ที่มีการปลูกทุเรียนเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาสารแคดเมียมทางห้องปฏิบัติการด้วย”
...
ปัญหาสารพิษตกค้างในพืชผักผลไม้ ทั้งส่งออก...บริโภคในประเทศ รัฐบาลควรที่จะต้องเอาจริงเอาจังเป็นวาระแห่งชาติรุกคืบให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม...ไม่ทำก็เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม