วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2567 ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยมีนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

โดยนางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ โดยมีรายละเอียดการตัด ปรับลดวงเงินงบประมาณ รวมถึงข้อสังเกตทั่วไป และข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 90,773,031,580 บาท

คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ เริ่มจากชื่อร่างข้อบัญญัติ หลักการ เหตุผล คำปรารภ ตัวร่างข้อบัญญัติ เรียงตามลำดับแล้วจึงพิจารณารายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายจนจบ โดยมีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียดประกอบการพิจารณา

ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตระดับหน่วยงานว่า เมื่อหน่วยรับงบประมาณได้รับงบประมาณแล้วควรเร่งรัดก่อหนี้ผูกพันโดยเร็ว และเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนระยะเวลาการใช้จ่ายงบประมาณที่กำหนดไว้ รวมทั้งควรบริหารสัญญาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่กรุงเทพมหานครและประชาชน

ขณะเดียวกันควรกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการปฏิบัติงาน รวมทั้งกำหนดมาตรการอย่างเข้มงวดกับผู้รับจ้างที่ผิดสัญญา และทิ้งงาน เช่น การปรับ การเรียกค่าเสียหาย การยกเลิกสัญญา การฟ้องร้องดำเนินคดี รวมทั้งระบุไว้ในร่างขอบเขตงาน (Term of Reference : TOR) เรื่องคุณลักษณะของผู้เสนอราคา เป็นต้น

ส่วนการเสนอขอตั้งงบประมาณ ค่าตอบแทน รายการค่าอาหารทำการนอกเวลาควรพิจารณาให้สอดคล้องกับปริมาณงานจริง โดยเฉพาะการเบิกค่าอาหารทำการนอกเวลา ควรเน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจ่ายเงินค่าอาหารทำการนอกเวลา พ.ศ. 2529 หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานครกำหนด และควรตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด โดยเบิกจ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานจริง รวมทั้งควรมีหลักฐานการเบิกจ่ายที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ขณะที่การเสนอขอตั้งงบประมาณ ค่าครุภัณฑ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นทั้งการจัดซื้อเพื่อทดแทนของเดิมและการขอใหม่ ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และการจัดซื้อครุภัณฑ์ควรมีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะที่ชัดเจน เพื่อคุณภาพ ความแข็งแรง อายุการใช้งานของครุภัณฑ์ และควรมีการรับประกันสินค้า ตลอดจนกำหนดคุณลักษณะและรายละเอียดของครุภัณฑ์ให้มีความทันสมัยเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน และเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้การกำหนดปริมาณงานและรูปแบบงานก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ควรสำรวจสภาพพื้นที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ รวมทั้งเพื่อให้การเสนอขอตั้งงบประมาณเป็นไปอย่างถูกต้อง การเสนอขอตั้งงบประมาณสำหรับการปรับปรุง ซ่อมแซมพื้นที่ หรือการจัดโครงการต่าง ๆ ในชุมชน ควรบูรณาการความคิดร่วมกับประชาชนในชุมชนให้มากขึ้น และชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบ ลดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างหน่วยงานและชุมชน

ส่วนข้อสังเกตระดับเขต ควรรวบรวมปัญหาและความเดือดร้อนของแต่ละชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อหาแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และเพื่อให้การเสนอขอตั้งงบประมาณตรงกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดแนวทางตามความต้องการของแต่ละชุมชน โดยสอบถามให้ได้ข้อยุติก่อนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การเสนอขอตั้งงบประมาณตรงกับความต้องการและความพร้อมของแต่ละชุมชนส่งผลให้เกิดการพัฒนาชุมชนต่อไป

นอกจากนี้การพิจารณางบประมาณไม่ควรยึดตามกรอบการพิจารณาอัตราร้อยละ 30 และการจัดลำดับความสำคัญ แต่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ต้องการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เนื่องจากสำนักงานเขตต่าง ๆ มีสัดส่วนพื้นที่ จำนวนประชากร ความจำเป็นและปัญหาที่แตกต่างกัน

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้ สำนักการโยธา 9,210,290,442 บาท สำนักการระบายน้ำ 7,080,714,790 บาท สำนักการแพทย์ 6,897,150,390 บาท สำนักสิ่งแวดล้อม 5,428,068,150 บาท และสำนักการคลัง 5,210,594,900 บาท สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณ 5 อันดับแรก ดังนี้ สำนักงานเขตลาดกระบัง จำนวน 797,063,900 บาท สำนักงานเขตหนองจอก จำนวน 763,970,000 บาท สำนักงานเขตบางขุนเทียน 734,130,300 บาท สำนักงานเขตหนองแขม 636,710,300 บาท และสำนักงานเขตบางแค 615,048,900 บาท

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวาระที่สองและวาระที่สาม จากนี้สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร จะรวบรวมรายละเอียด เสนอนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนาม เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ด้านนายชัชชาติ ได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการวิสามัญฯ ทุกคน และกล่าวว่า ฝ่ายบริหารจะบริหารงบประมาณให้ดีที่สุด