หากเราจะเอ่ยถึง “เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ” ความรู้สึกแรก ๆ ของใครหลายคนอาจมองว่าสิ่งนี้ต้องเป็นอะไรที่ไม่ธรรมดา ดั่งซอสสูตรพิเศษที่เชฟคนเก่งคิดค้นมาอย่างซับซ้อน จนยากที่คนทั่วไปจะสามารถทำตามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเคล็ดลับความสำเร็จของบุคคลระดับผู้บริหารขององค์กรชั้นนำระดับประเทศ ภาพในหัวของเราย่อมจินตนาการไปว่ามันจะต้องเป็นกลวิธีที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

ขณะที่คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่ผู้เขียนเองก็เชื่อเช่นนั้น ทว่าหลังจากที่ได้พูดคุยกับ คุณพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล หรือ “พี่เปิ้ล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เธอกลับทำให้เราตระหนักได้ว่าบางครั้งบางทีเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดมันอาจไม่ใช่อะไรที่หวือหวา หากแต่เป็นความเรียบง่าย ที่ใครหลายคนอาจมองข้ามไป

และเรื่องง่าย ๆ หลาย ๆ อย่างที่พี่เปิ้ลบอกกับเรา ได้กลายเป็นรากฐานอันสำคัญของเส้นทางอาชีพที่ราวกับฝันของ CFO หญิงเก่งคนนี้ ที่ค่อย ๆ เติบโตจากนักศึกษาฝึกงาน สู่การก้าวมาเป็นพี่คนโตในฝั่งการเงินของ ปตท. พร้อมกับฝากตำนานที่ไม่ธรรมดาเอาไว้นั่นคือการทำงานที่บริษัทแห่งเดียวตลอดชีวิต รวมอายุงาน 38 ปี นับตั้งแต่บรรจุเข้าเป็นพนักงานที่บ้านหลังใหญ่แห่งนี้

แม้พี่เปิ้ลจะย้ำกับเราตลอดการสนทนาว่าตัวพี่เองแค่มุ่งมั่นกับงานอย่างเต็มที่เท่านั้น ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเรื่องราวของพี่เปิ้ลนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และยังเต็มไปด้วยบทเรียนชั้นดีที่สามารถจุดประกายคนทำงานทุกช่วงวัยได้อย่างยอดเยี่ยม

ไทยรัฐออนไลน์ขอชวนทุกคนมาร่วมพูดคุยกับ พี่เปิ้ล-พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ไปด้วยกัน พร้อมไขรหัสความสำเร็จที่เกิดจากการไม่ละเลยเรื่องง่าย ๆ โดยมีหัวใจสำคัญคือคำว่า “ตั้งใจ”

ตั้งใจให้เต็มที่ พร้อมรับโอกาสที่เข้ามา

เราอาจเคยได้ยินคำกล่าวว่าจุดเริ่มต้นของตำนานบางครั้งอาจเกิดจากเรื่องราวเล็ก ๆ ในกรณีของพี่เปิ้ลเองก็อาจจะเป็นเช่นเดียวกัน โดยชีวิตของเธอได้โคจรมาเจอกับ ปตท. เมื่อครั้งเข้ารับการฝึกงานในช่วงที่กำลังศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่สาม ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ ทำให้มีพี่ ๆ ในที่ทำงานมองเห็นแววและชักชวนให้มาสมัครเข้าทำงานเมื่อเรียนจบ แม้ว่าในตอนนั้นพี่เปิ้ลจะมีตัวเลือกอื่น ๆ ที่สมัครไปหลายที่ แต่ท้ายที่สุดเธอก็เลือก ปตท. และตั้งแต่วันนั้นเส้นทางอาชีพในรั้วสีน้ำเงินที่ยาวนานกว่า 38 ปี ก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีจุดสตาร์ทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529

“พอเราตั้งใจทำงานแล้วโอกาสจะเข้ามาหา”

พี่เปิ้ลเอ่ยกับเราอย่างเป็นกันเองแต่สัมผัสได้ถึงความจริงจังจากแววตา ก่อนจะเล่าให้ฟังต่อว่าในตอนแรกพี่เปิ้ลเข้ามาทำงานในแผนกรับจ่ายเงินในประเทศซึ่งเป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากช่วงฝึกงานพี่เปิ้ลจึงมีความชำนาญในงาน และสามารถส่งมอบได้เป็นอย่างดี กระนั้นด้วยลักษณะของงานที่มีกระบวนการชัดเจน ทำในรูปแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ สิ่งที่ตามมาหลังจากอายุงานเข้าปีที่สองคือความรู้สึกจำเจจนจวนเจียนจะได้แยกย้ายไปเติบโต อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้นก็มีจุดเปลี่ยนเกิดขึ้น เมื่อมีพี่ใหญ่จากต่างแผนกมาชักชวนไปทำงานด้วยกันเนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพที่สามารถเติบโตได้ กระนั้นเองถ้าจะว่ากันตามจริงแล้วหากตัดสินใจโยกย้าย สิ่งที่ตามมาคือความท้าทายที่มากกว่าเดิมอย่างมาก ด้วยเนื้องานที่หนัก และความเข้มข้นของหน่วยงานที่ค่อนข้างแตกต่างจากเดิม อย่างไรก็ตามพี่เปิ้ลเองก็เชื่อว่านี่คือโอกาส แม้ในใจจะรู้สึกว่าต้องเจอกับความยาก และอาจมีสิ่งใหม่ ๆ ที่คาดเดาไม่ได้รออยู่อีกมาก แต่เธอก็มองว่าความตั้งใจจะช่วยให้สามารถผ่านไปได้ และสิ่งนี้เองก็กลายเป็นดั่งแนวคิดพื้นฐานที่พี่เปิ้ลใช้เป็นหลักสำคัญในการก้าวเดินในบ้านหลังใหญ่แห่งนี้

ทั้งนี้ภายในองค์กรของ ปตท. จะมีระบบ Career Path ที่ออกแบบมาให้พนักงานที่มีศักยภาพได้มีโอกาสโยกย้ายไปทำงานได้ส่วนงานต่าง ๆ เพื่อสั่งสมทักษะความเชี่ยวชาญ เมื่อชำนาญแล้วก็จะมีการสลับหมุนเวียนไปที่ส่วนงานอื่นเรื่อย ๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้พนักงานมีความรู้รอบด้านแล้ว ยังมีส่วนช่วยฝึกฝนให้พนักงานเข้าอกเข้าใจคนจากหลากหลายฝ่ายมากยิ่งขึ้น

มองปัญหาเป็นความท้าทาย พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ และส่งต่อสิ่งที่มีคุณค่า

จากวันที่เริ่มต้นเป็นพนักงาน สู่การขยับมาเป็นหัวหน้าครั้งแรก ๆ แน่นอนว่าย่อมต้องมีเรื่องยากลำบากเข้ามาให้ว้าวุ่นใจมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเราเอ่ยถามว่าพี่เปิ้ลเคยเจอปัญหาอะไรที่ยากมาก ๆ หรือมีอุปสรรคครั้งไหนที่รู้สึกว่าหนักหนาเป็นพิเศษหรือไม่ พี่เปิ้ลกลับบอกเราอย่างนุ่มนวลว่า “พี่ว่าไม่มีนะ”

คำตอบนี้เรียกได้ว่าเกินคาด จนเราแอบประหลาดใจไปพร้อมกับอยากรู้ถึงเหตุผล ซึ่งพี่เปิ้ลก็อธิบายกับเราอย่างเรียบง่ายแต่ชัดเจนว่า “พี่ไม่เคยคิดว่าปัญหาคืออุปสรรค คือถ้ามีอะไรที่เข้ามาใหม่ แล้วยากมาก ๆ พี่จะมองว่าคือความท้าทาย เป็นสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ ซึ่งสามารถใช้ความตั้งใจและความรับผิดชอบเพื่อผ่านมันไปได้”

พี่เปิ้ลเสริมเพิ่มเติมว่า “ภายใน ปตท. มีวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งที่พี่ชอบมาก คือเรื่องของการให้โอกาส ตั้งแต่เรื่องการโยกย้ายงาน จนถึงการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เขาไม่ปิดกั้นที่จะให้เราคิดแตกต่าง นี่เลยเป็นหนึ่งในเหตุที่ทำให้พี่มองว่าอุปสรรคที่เข้ามามีทางออกเสมอ ขอแค่เราลองคิด พยายามหามุมในการแก้ปัญหาและพัฒนา พี่เปิ้ลเองก็พยายามจะส่งเสริมน้อง ๆ เช่นกันว่าให้คิดเถอะ เราจะชอบถามว่าน้องว่าทำแบบนี้เพราะอะไร ถ้าเขาตอบว่าเพราะพี่บอกให้ทำเนี่ย พี่เปิ้ลจะแบบ เฮ้ย ไม่ได้นะ คือมันต้องมีความเข้าใจ แล้วถ้าเราเห็นด้วยก็โอเคทำไป แต่ถ้าเราคิดว่าไม่เห็นด้วย มันมีส่วนที่จะปรับปรุงพัฒนาได้ คุณต้องเสนอ ซึ่งพี่ก็ใช้หลักการนี้มาตลอดชีวิต คือชอบงานใหม่ ชอบความท้าทาย ชอบให้มีโอกาสในการที่เราจะเสนอความเห็นของเรา”

โดยนอกเหนือไปจากเรื่องงาน อีกหนึ่งความท้าทายที่พี่เปิ้ลกล่าวว่าเป็นเรื่องยากพอสมควรตอนได้มีโอกาสทำครั้งแรก ๆ คือการก้าวขึ้นมาเป็นพี่ที่มีน้อง ๆ ในทีม ซึ่งสำหรับคนที่ชอบการทำงานอย่างกระฉับกระเฉงรวดเร็วด้วยตัวคนเดียวนั้น สิ่งนี้นับว่าเป็นเรื่องใหม่อย่างมาก แต่ก็ด้วยแนวคิดที่ว่า “เมื่อมีโอกาสก็ต้องลองทำดู” ทำให้เธอพร้อมจะเรียนรู้ ก่อนจะเติบโตสู่การเป็นหัวหน้าที่น้อง ๆ เชื่อมั่น ไม่เพียงในแง่มุมการทำงาน แต่ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิต ด้วยความเข้าอกเข้าใจในคนรุ่นใหม่ทุกช่วงวัย

“เราต้องมีความเข้าใจ พี่คิดว่าคงมาพร้อมกับวัยวุฒิด้วยแหละมั้ง คือบางทีถ้าเรายังเด็กเราก็อาจจะไม่ได้เข้าใจขนาดนี้นะ แต่พอเราโตเราก็จะมีความเข้าใจทุกคนหมดเลย ไม่มีใครที่ไม่ดีหรือดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนก็มีมุมของตัวเอง แต่ว่าเราก็ต้องเข้าใจเขา คนรุ่นใหม่เขาก็เติบโตมาด้วยสภาพแวดล้อมที่ต่างจากเรา เพราะงั้นพี่เปิ้ลคิดว่าต้องเอาข้อดีของแต่ละเจเนอเรชั่น (Generation) แล้วเอามาหลอมรวมกัน เพื่อให้ทำงานได้ แล้วมีประสิทธิภาพขึ้น”

สนับสนุน สร้างสรรค์ นวัตกรรมการเงิน

อีกหนึ่งเรื่องราวน่าสนใจจากประสบการณ์เกือบ 4 ทศวรรษของพี่เปิ้ลคือความเปลี่ยนแปลงของ ปตท. นับจากวันแรก ๆ จนถึงวันนี้ที่กลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งตัวพี่เปิ้ลเองกล่าวได้ว่าผ่านร้อนผ่านหนาวกับ ปตท. มาแทบจะทุกช่วงเวลา โดยระหว่างที่เป็นพนักงานอยู่นั้นมีหนึ่งในผลงานที่นับว่าเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งคือการเป็นหนึ่งในคณะทำงานในโปรเจกต์ การเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือที่เรียกกันติดปากว่า IPO ของบริษัท

“การ IPO ของ ปตท. เมื่อปี พ.ศ. 2544 เป็นก้าวที่สำคัญมาก ๆ ขององค์กร ช่วงนั้นกลับบ้านตีสองตีสามทุกคืนเลย แล้วเช้าก็มาทำงานต่อ เป็นแบบนี้อยู่หลายเดือนมาก แต่ตอนนั้นกำลังมาจากไหนไม่รู้ เหมือนกับว่าเราสนุก เพราะเป็นเรื่องที่ใหม่ มีหลายเรื่องที่เราไม่รู้ มีหลายสิ่งที่ต้องเตรียมการเพื่อเปลี่ยนผ่านจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน เราก็ต้องดูแลด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนักลงทุน สถาบันจัดอันดับ นักวิเคราะห์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ที่ต้องพยายามสร้างความสมดุล เราต้องคิดให้รอบด้าน ทำอย่างถูกต้อง พอสำเร็จ ทำให้บริษัทฯ ของเราเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมีส่วนสำคัญมาก ที่ช่วยให้เรื่องสถานะการเงินของ ปตท. มีความมั่นคง มีเครดิตที่ดีขึ้น สามารถวางแผนโครงการใหม่ ๆ ได้อย่างราบรื่น จนกลายเป็น ปตท. ในทุกวันนี้”

หลังมีส่วนร่วมกับความสำเร็จของบริษัทในหลายโปรเจกต์ เส้นทางอาชีพของพี่เปิ้ลก็เดินหน้าไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กระทั่งในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 พี่เปิ้ลได้ก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างเต็มตัว และตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งได้เดินหน้าเพื่อนำเสนอนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ ๆ มากมาย เพื่อนำมาปรับใช้ภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและศักยภาพในการแข่งขันและเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และทำงานร่วมกัน โดยมีโปรเจกต์ที่น่าสนใจ เช่น

- การจัดตั้งศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center Company: TCC) จากเดิมที่ประเทศไทยยังรอความชัดเจนด้านกฎหมายทำให้ยังไม่มีการจัดตั้ง TCC ในประเทศไทย จึงไปจัดตั้งที่สิงคโปร์ก่อน แต่ท้ายที่สุดหลังมีการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนก็สามารถนำมาจัดตั้งในไทยได้สำเร็จ ซึ่งความเป็นเจ้าแรก ๆ ในไทยนี้ ทำให้ ปตท. กลายเป็นแม่แบบ (Role Model) สำหรับหน่วยงานอื่น ๆ อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนตลาดเงินได้อย่างเห็นผล

- ร่วมพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงเข้าร่วมโครงการ sandbox ทั้งด้านบัญชี ภาษี และการเงิน กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารพาณิชย์ และหลายโครงการได้เริ่มใช้งานจริงแล้ว

- นำ RPA (Robotic Process Automation) มาใช้ในกระบวนการทำงานด้านบัญชีและการเงิน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการทำงาน พนักงานสามารถเอาเวลาไปพัฒนาปรับปรุงงานด้านอื่น ๆ เพื่อรองรับธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น

- เป็นองค์กรแรก ๆ ที่มีการออกตราสารหนี้ที่ผู้ออกระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลสำหรับภาคส่วนที่สนใจ

อนาคตหลังจากนี้ และสิ่งที่อยากบอกน้อง ๆ รุ่นใหม่

“หลังเกษียณ พี่คงหันไปดูแลตัวเองก่อน ส่วนอนาคตจะเป็นแบบไหน อันนั้นก็อยู่ที่พรหมลิขิต”

พี่เปิ้ลบอกพร้อมกับหัวเราะ เป็นอีกครั้งที่คำตอบแสนเรียบง่ายตอกย้ำถึงแนวคิดข้อสำคัญของ CFO สาว นั่นคือการตั้งใจกับปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น จากเรื่องราวทั้งหมดซึ่งเผยให้เห็นถึงทัศนคติและวิธีการบริหารงานล้วนเป็นคำตอบที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่าเหตุใดพี่เปิ้ลจึงได้รับโอกาสสำคัญในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (Chief Financial Officer)

ด้วยพลังบวกที่ได้รับตลอดการสนทนา เวลาการพูดคุยราวหนึ่งชั่วโมงจึงเหมือนผ่านไปเพียงอึดใจ ซึ่งมันอาจจะเป็นเพราะบรรยากาศอันผ่อนคลายและออร่าแห่งความสบายใจจากพี่เปิ้ล จนทำให้เราอยากให้บทสนทนานี้ยาวนานต่อไปอีกนิด อย่างไรก็ดีงานเลี้ยงย่อมมีวันสิ้นสุด เช่นเดียวกับหน้าที่ของพี่เปิ้ล-พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ที่กำลังจะปิดม่านลงในอีกไม่นานนัก

“จริง ๆ พี่เองก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราเชื่อนี้ถูกหรือผิด หรือจะสามารถจุดประกายอะไรได้หรือไม่ แต่หากจะให้ฝากอะไรถึงน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวสู่โลกแห่งการทำงาน พี่คิดว่าคงจะเป็นการใส่ใจกับเรื่องต่าง ๆ”

“อย่างแรกคือ ‘ความอดทน’ เราควรจะต้องมีความพยายาม มีความขยัน และอดทนไว้ก่อน แน่นอนว่าอาจจะไม่ได้ทำให้เราประสบความสำเร็จได้ทุกคน แต่อย่างน้อยก็ทำให้เรามีโอกาสมากกว่าคนที่ไม่พยายาม”

“อย่างที่สองคือ ‘ความรับผิดชอบ’ สิ่งนี้พี่เปิ้ลยึดเป็นหลักการทำงานมาตลอด เมื่อเราได้รับมอบหมายอะไร เราก็ต้องรับผิดชอบให้ดีที่สุด โฟกัสในงานที่ทำ พยายามทำให้ดีที่สุด แล้วก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ คิดสิ่งใหม่ไปเรื่อย ๆ”

“อย่างที่สามคือ ‘ความซื่อสัตย์’ พี่เปิ้ลให้ความสำคัญมาก พี่เปิ้ลคิดว่าคนเราต้องมีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐานในการทำทุกสิ่งอย่างในการดำรงชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่รวมไปถึงทุก ๆ อย่าง”

“และสุดท้ายสำหรับน้อง ๆ รุ่นใหม่ พี่อยากให้ทุกคนพยายามเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดติดตามเทคโนโลยี เพื่อให้รู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องทั่วไปเลยนะ แต่พี่ว่าถ้าทุกคนทุกเจนฯ มี เมื่อรวมกับความตั้งใจ จะกลายเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่าง เป็นพื้นฐานไปสู่ความสำเร็จได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบทเรียนจากการตกผลึกชีวิตการทำงานตลอดระยะเวลา 38 ปี ของพี่เปิ้ลนั้นเป็นอะไรที่เรียบง่ายสมกับที่เธอบอกกับเรามาตลอดบทสนทนา ท้ายที่สุดเคล็ดลับของการไปสู่ความสำเร็จในแบบฉบับ CFO สาว ก็คือสิ่งที่ใกล้ตัวอย่างมาก และเราทุกคนสามารถลงมือทำได้เลยนับตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป แม้มันจะไม่เห็นผลทันตา แต่ ณ วันหนึ่ง อาจจะงอกงามกลายเป็นความสำเร็จที่ตัวเราในวันนี้ไม่เคยคิดฝัน

สุดท้ายเราแอบถามพี่เปิ้ลว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้พี่ไม่คิดย้ายงานไปไหน เธอยิ้มอีกครั้งแล้วบอกกับเราด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน

“แน่นอนว่าบางทีคนเราก็มีเงื่อนไขของชีวิตต่างกัน ไม่มีใครผิดหากจะเลือกทางอื่นที่เหมาะสมกับตนเองมากกว่า แต่สำหรับพี่เปิ้ล พี่จะพยายามทำทุกวันให้มีความสุข คือในทุกวันน่ะ ถ้าเราทำได้ ไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ แค่เรื่องเล็ก ๆ ก็ได้ พอทำสำเร็จก็ชมตัวเองในใจ เฮ้ย โคตรเก่งเลย! บางทีการที่เราทำในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ ก็เหมือนให้กำลังใจตัวเอง ทำให้มีความสุขในทุก ๆ วัน พอเป็นแบบนี้เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องไปโหยหาสิ่งใหม่ข้างนอก”

“พี่เปิ้ลไม่เคยทำงานที่อื่น แต่พี่เปิ้ลรู้สึกสบายใจกับการทำงานที่ ปตท. ถ้าย้อนกลับไปบอกตัวเองในวันแรกได้ก็คงจะบอกว่านี่คงเป็นโชคดีของเรา รู้สึกเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิด คงเป็นพรหมลิขิตที่ทำให้เราได้มาทำงานที่นี่”