วันเสาร์สบายๆ วันนี้ไปคุยเรื่อง “การช่วยลดโลกร้อน” กันนะครับ สัปดาห์ที่แล้ว คุณคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เชิญสื่ออาวุโสไปดูงาน โรงไฟฟ้าขยะเทคโนโลยีใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งสามารถเผาขยะจนเป็นผงไร้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ทำให้โลกร้อน สามารถตั้งอยู่กลางชุมชนเมืองได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิสัยทัศน์ใหม่ของกลุ่ม ปตท. ยุค คุณคงกระพัน อินทรแจ้ง ที่ระบุว่า “ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน (TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD)

โดย เร่งสร้างความแข็งแรงและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจ Hydrocarbon ที่เป็นธุรกิจหลักของ ปตท. ควบคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก และปรับตัวพร้อมรับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

คุณคงกระพัน เปิดเผยว่า ปตท.มีแผนการที่จะสร้างสมดุล ESG (สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล) ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร ควบคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ผ่านการผลักดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ “ไฮโดรเจน” และ “โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS)” โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมทั้งกลุ่ม ปตท. เพื่อใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัทในกลุ่มให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ปัจจุบัน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ในกลุ่ม ปตท.กำลังทดลองที่ แหล่งก๊าซอาทิตย์ ติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนจากการเผาไหม้ก๊าซที่ขุดขึ้นมาจากแหล่งอาทิตย์ เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนให้เป็นของเหลว แล้วอัดกลับลงไปเก็บไว้ในบ่อก๊าซใต้ทะเลที่ว่างเปล่า (หลังขุดก๊าซขึ้นมาใช้แล้ว) เพื่อให้ก๊าซคาร์บอนอยู่ในบ่อก๊าซใต้ทะเลต่อไปชั่วนิรันดร์ วิธีการนี้จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนลงไปได้ รวมทั้งการตั้งเครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนในโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซในเครือของ ปตท.ด้วย

...

คุณคงกระพัน กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของ ปตท.คือ การเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน โดยจะมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ปี 2567 ปตท.จะ Refocus ธุรกิจกลับไปสู่ธุรกิจพื้นฐานเดิม (Back to basic) โดยมุ่งเน้นใน ธุรกิจ Hydrocarbon (ก๊าซ น้ำมัน ฯลฯ) ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ลดสินทรัพย์ที่ไม่สร้างผลกำไร และ ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ปตท.จะเติบโตด้วยกำไรและการลงทุน มุ่งเน้นผลประกอบการที่เป็นเลิศและการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ บูรณาการความยั่งยืนเข้าสู่ธุรกิจ โดย ปตท.จะสร้างบทบาทเป็นผู้เล่นที่นำประเทศ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero (ในปี 2050 ที่รัฐบาลได้ประกาศไว้)

การนำสื่ออาวุโสไปดู โรงงานไฟฟ้าขยะที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ โรงงานไฟฟ้าขยะรุ่นเก่าที่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มีการติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย ปตท.ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสื่อและประชาชนในเรื่องการลดโลกร้อนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โรงไฟฟ้าขยะโรงแรกที่ ปตท.พาไปชมคือ Tsurumi Plant เมืองโยโกฮามา แนวคิดญี่ปุ่นคือ ตั้ง “โรงเผาขยะ” แต่ได้ “ไฟฟ้า” เป็นผลพลอยได้ แต่ไทยคิดกลับกันคือ ตั้งโรงไฟฟ้าขยะ โดยเอาขยะมาเป็นเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าซุรูมิตั้งอยู่กลางชุมชนเมือง เป็นโรงเผาขยะด้วยความร้อนสูง 800–950 องศาเซลเซียส ทำให้ขยะทุกชนิดกลายเป็นผุยผง จนไม่เหลือก๊าซเรือนกระจก และไม่มีกลิ่นเหม็นขยะมีเตาเผา 3 เตา เผาขยะได้วันละ 1,200 ตัน ผลิตไฟฟ้าได้วันละ 22 เมกะวัตต์ ขายไฟเข้าสู่ระบบกลาง น้ำที่ใช้ในการหล่อเย็น ก็บำบัดจนสะอาด แล้วปล่อยไปใช้รดต้นไม้และบ่อน้ำในสวนสาธารณะของชุมชน

อีกโรงเป็น โรงเผาขยะรุ่นเก่า เผาขยะด้วยความร้อนต่ำกว่า จึงมีก๊าซ CO2 แต่เขาตั้งโรงดักจับ CO2 แล้วนำไปเปลี่ยนเป็น “ก๊าซไฮโดรเจนเหลว” เพื่อเป็นเชื้อเพลิงต่อไป

นี่คือ โรงไฟฟ้าขยะที่ยั่งยืน ก็หวังประเทศไทยในอนาคตจะเปลี่ยน โรงไฟฟ้าขยะที่เน่าเหม็น ให้เป็น โรงไฟฟ้าขยะช่วยลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน แบบเดียวกับญี่ปุ่นนะครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม