นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2567 ที่มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา ว่า นโยบายรัฐบาลมีงานด้านสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะต้องสนองนโยบาย 3 เรื่องคือ การดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด, การยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว, การส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์หรือเมดิเคิลฮับ รวมถึงนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เรื่องการรณรงค์ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งของประชาชนและค่ารักษาพยาบาลของประเทศได้

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัตินั้น จะต้องยึดหลัก ททท หรือ ทำทันที โดยเป้าหมายปี 2568 ของ สธ.คือ จากการให้บริการทางการแพทย์กับประชาชนในประเทศ ซึ่งเราดำเนินการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและศักยภาพ จนได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ดังนั้นจากนี้ไปเราจะต้องเดินหน้าเพิ่มศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น โดยการดึงคนต่างชาติเข้ามารับบริการทางการแพทย์หรือมารักษาในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการความงาม ซึ่งประเทศเกาหลีใต้ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่ประเทศไทยก็ได้รับความนิยมเป็นอันดับที่สอง หากสนับสนุนอย่างเต็มที่และมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจน คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยนับแสนล้านบาท

ปลัด สธ.กล่าวด้วยว่า สธ.จะต้องมีการปรับปรุงตนเองเพื่อความยั่งยืน ทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการมีงบประมาณที่เพียงพอ รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เราไม่สามารถผลิตยาและเวชภัณฑ์ได้เอง จึงเป็นแนวทางที่เราจะต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมของเราเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางการแพทย์ให้กับประเทศ นอกจากนี้ตนยังมีแนวคิดที่จะกระจายอำนาจให้เขตสุขภาพ ยกฐานะให้เป็นนิติบุคคล เทียบเท่ากรม ให้ผู้ตรวจราชการมีอำนาจการบริหารจัดการในเขตสุขภาพ ซึ่งแต่ละแห่งมีปัญหาแตกต่างกัน และทำให้สำนักงานปลัด สธ. และกระทรวงในส่วนกลางเล็กลง.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่