สถานการณ์ความไม่สงบ “ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นปัญหายืดเยื้อมานาน “รัฐบาลหลายชุด” พยายามเข้ามาปรับมาตรการ นโยบาย จนการแก้ปัญหาความไม่สงบเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

โดยเฉพาะการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่างที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2547-2567 มักขาดความต่อเนื่อง และเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันในการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่ และประชาชน กระทบการใช้ชีวิตมาตลอด

แถมบางทีย้อนแย้งกับ “แนวทางของนโยบายที่เป็นสันติวิธี” กลายเป็นอุปสรรคขยายความขัดแย้งเป็นวงกว้างขึ้น พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ บอกว่า ส่วนตัวผ่านเหตุสำคัญมา 2 เหตุการณ์ ตั้งแต่ภัยคอมมิวนิสต์จนถึงเหตุปล้นปืนค่ายปิเหล็งที่เป็นจุดเริ่มต้นความไม่สงบในพื้นที่ 3 จชต.

ก่อเกิดการเผชิญหน้าระหว่าง “กองกำลังเห็นต่าง และฝ่ายรัฐ” จากชุดความคิดของกองทัพ แก้ปัญหาความมั่นคงภายในแบบเดียวกับภัยคอมมิวนิสต์ที่มีความเห็นต่างเชิงอุดมการณ์ นำมาสู่วันเสียงปืนแตกในปี 2508 “กองทัพ” ก็เข้ามามีบทบาทเพราะรากเหง้าปัญหาความอยุติธรรมเกิดจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจ

สิ่งนี้ทำให้ “ทหารเข้ามาเป็นเจ้าภาพ” อันมีเครื่องมือในการขับเคลื่อนด้วย พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 เพื่อให้ทหารมีอำนาจไปควบคุมบัญชาสั่งการฝ่ายพลเรือน และฝ่ายตำรวจได้

สุดท้ายแล้ว “ภัยคอมมิวนิสต์” ก็จบลงแบบประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพ  ความเสมอภาค  และการมีส่วนร่วมจากนโยบาย 66/23 เรื่องป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ รวมถึงนโยบาย 65/25 เป็นนโยบายเชิงรุกทางการเมืองจาก “การเชื้อเชิญให้กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย” ด้วยประชาชนมีส่วนร่วมตกผลึกแสวงหาทางออกได้

...

ดังนั้น “กฎหมายเป็นแค่เครื่องมือ” เพียงแต่ชุดความคิดเหล่านี้ยังลุกลามมาถึง “เหตุปล้นค่ายปิเหล็ง” แต่ว่ากฎหมายคอมมิวนิสต์ไม่สามารถนำมาใช้ได้จึงแปลงกายออกมาเป็น “พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน” ก่อนจะตามมาด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก อันเป็นกฎหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่เข้ามาอีก

ตรงนี้กลายเป็น “การจำกัดสิทธิเสรีภาพเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปลอดภัย” ด้วยถ้าประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเมื่อใด จะมีผลต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ต้องงดใช้ทันที ทำให้บางเรื่องต้องไปจัดการกับประชาชนที่ต้องใช้กฎหมายระดับเบาเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็กลายเป็นต้องไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเป็นกฎหมายหนักแทน

แล้วการที่ทหารเป็นเจ้าภาพมักจะใช้ “กฎอัยการศึก” อันเป็นกฎหมายหนักไม่ต้องมีหมายก็เชิญคนมาได้ สิ่งนี้ชี้เห็นที่มาชุดความคิดลากยาวมา 20 ปีที่ไม่มีพัฒนาการแถมกฎหมายความมั่นคงยังประกาศใช้ 3 ฉบับ กลายเป็นเงื่อนไขต่อการพูดคุยสันติภาพ เพราะการพูดคุยให้มีประสิทธิภาพสัมฤทธิ์ได้ สภาพแวดล้อมต้องเอื้ออำนวย

ด้วยการใช้กฎหมายพิเศษให้น้อยที่สุด “เพื่อให้เกิดเวทีพูดคุยที่สัมฤทธิ์ผล” แต่เมื่อประกาศใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับเช่นนี้ “ความมุ่งหวังจะให้เกิดการแก้ไขด้วยการพูดคุยก็ลำบาก” แล้วการที่ทหารขึ้นมาเป็นเจ้าภาพยิ่งน่าเป็นปัญหาจาก “ชุดความคิดทหาร” ถูกฝึกอบรมมาต่อสู้กับข้าศึกศัตรูนอกประเทศที่ไม่ใช่คนไทยด้วยกัน

ฉะนั้นแล้ว “ทหารควรเป็นเจ้าภาพระยะหนึ่ง” เพื่อเป็นพี่เลี้ยงค่อยส่งไม้ต่อให้ตำรวจ และฝ่ายปกครอง แต่ปรากฏว่าทหารไม่ยอมส่งไม้ต่อคงเป็นพี่เลี้ยงโดยอ้างต้องการเอกภาพและการบูรณาการ แต่สภาพปัญหาลึกๆกลับกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์งบประมาณหรือไม่...? จนความเป็นพี่เลี้ยงถูกลากยาวถึงทุกวันนี้

ตอกย้ำสภาพปัญหา ชุดความคิดไม่ได้เปลี่ยนไป คงใช้ตัวแบบเดิม เพียงแต่เปลี่ยนกฎหมายเพิ่มขึ้นมาจำกัดสิทธิเสรีภาพกลายเป็นปัญหาต่อการพูดคุยสันติภาพล่าช้าจากสภาพแวดล้อมใน 3 จชต.ไม่เอื้อแล้วเมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลรัฐประหารก็เป็นการพูดคุยสร้างภาพไว้ว่าประเทศนี้มีทางออกในการพูดคุยกันเพื่อสันติภาพแค่นั้น

...

ในส่วน “ฝ่ายผู้เห็นต่าง” ก็กลัวจะตกเวที จำเป็นต้องมาร่วมในการพูดคุย “รอรัฐบาลประชาธิปไตย” เพื่อจะได้สานต่อ แต่กลับโชคร้ายต้องมาเจอ “รัฐบาลข้ามขั้ว” ที่เดิมทีดูเหมือนจะขับเคลื่อนเวทีพูดคุยไปได้ เพราะช่วงทำนโยบายก็เข้าไปร่วมทำด้วย แต่พอเกิดรัฐบาลข้ามขั้วก็เลยกลายเป็นลูกผีลูกคนอยู่ทุกวันนี้

ขณะที่ อับดุลเราะมัน มอลอ คณะที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรมบอกว่า ตลอด 20 ปีมีเหตุความไม่สงบใน 3 จชต. 2.2 หมื่นครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7.6 พันคน แต่แง่งบประมาณในปี 2547 ถูกใช้ไป 1.3 หมื่นล้านบาทจนมาปี 2559 เพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท แต่สถานการณ์กลับไม่สงบจนสงสัยว่าบางหน่วยงานแสวงหาผลประโยชน์ในงบประมาณหรือไม่

ถ้าย้อนดูก่อนปี 2547 “การกำหนดนโยบาย” เคยปรับหน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้บางส่วนลง แต่พอเกิดเหตุการณ์ในปี 2547 “หน่วยงานถูกยกเลิกนั้น Transform กลับมาใหม่” ด้วยการใส่กองกำลังติดอาวุธเข้าไปในพื้นที่มุ่งสู่แสวงหาเพื่อยุติการก่อเหตุแบบสันติภาพเชิงลบ (Negative Peace)

แต่พอ 10 ปีหลังปี 2556 ขยับมาเรียกว่ากึ่งสันติภาพเชิงบวก (Semi-Positive Peace) ที่ไม่ใช่สันติภาพเชิงบวกเพราะไม่เห็นกำหนดนโยบายเชิงมุมมองทางการเมือง (Political views)ในการแก้ปัญหาที่ชัด แต่ตรงนี้อย่างน้อยก็มีกึ่งสันติภาพเชิงบวกในกระบวนการหาทางออกจากการพูดคุยสันติภาพเป็นรูปธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญไทย

เมื่อกรอบชัดก็เข้าสู่ “Positive Peace (สันติภาพเชิงบวก)” ในการหยุดหลั่งเลือดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงแต่คู่ขัดแย้งจับอาวุธต่อสู้ เพื่อเอกราชจะยอมลดเป้ามาคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไหมอันนี้ “รัฐบาล” ต้องยืนยันให้ชัดว่าต้องการสันติภาพแล้วหน่วยงานอื่นก็ไม่ต้องยุ่งเพราะกำลังจะไปในสิ่งที่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อประเทศ

...

เช่นนี้สันติภาพเชิงบวกก็จะเกิดขึ้นแล้ว “กลไกพูดคุยสันติสุขจะคุยกับองค์กรก่อเหตุเยอะๆ” เรื่องนี้ถ้าถอดบทเรียนในเมียนมาเคยไม่คุยกับอาระกัน เพราะไม่มีอาวุธจนอาระกันต้องจับอาวุธสร้างกองกำลังตัวเอง

เช่นเดียวกับกรณี “การพูดคุยสันติสุขครั้งที่ 4” ริเริ่มรอมฎอนสันติภาพทำให้ BRN ไม่ก่อเหตุเลยตลอด 30 วันปรากฏเกิดเหตุระเบิด อ.สายบุรี แล้ว “พูโล” ก็ประกาศความรับผิดชอบเพราะอยากจะคุยต้องมีกองกำลังใช่ไหมเลยต้องสร้างกองกำลังขึ้นมา สิ่งนี้รัฐบาลอาจต้องกำหนดประเด็นเพื่อไปสู่สันติภาพเชิงบวกให้ได้ในสังคมไทย

นี่เป็นข้อเสนอผ่านเวที “ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ” แต่อาจต้องรออีกนิดเพราะรัฐบาลเพิ่งตั้งไข่ แต่พอแต่งตั้ง ครม.กำหนดนโยบายแถลงต่อสภาฯก็จะเห็นทิศทางความตั้งใจจริง หรืออาจเป็นเพียงตั้งคณะพูดคุยสันติสุขขึ้นมาเป็นกระบวนการลอยๆ คงต้องติดตามกันต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม

...