แนวโน้มสถานการณ์นํ้าท่วม “ภาคกลางและกรุงเทพฯ” นับวันยิ่งน่ากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในช่วงเดือน ก.ย.–ต.ค.2567 เป็นช่วงฝนตกชุกหนาแน่นแถมคาดว่าพายุจะเข้ามา 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านภาคตะวันออก เฉียงเหนือ และภาคเหนือส่งผลให้ปริมาณน้ำเข้ามาเพิ่มเติมอีกมาก

กลายเป็นการสร้างความกังวลให้กับ “คนภาคกลาง และคนกรุงเทพฯ” ต่างผวาเกรงจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554 เรื่องนี้ ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย มองสถานการณ์น้ำผ่านเวทีเสวนาเกาะติดสถานการณ์วิกฤติน้ำท่วม โอกาสและทางออก ที่จัดโดย วสท.ว่า

ปัญหาน้ำท่วมหนักภาคเหนือปีนี้มาจาก “โลกร้อนแตะ 1.5 องศาฯ” จนโลกรวนสภาพอากาศผิดปกติ “ชั้นบรรยากาศชื้นไอน้ำสะสม” เข้าไปอยู่ร่องมรสุมก่อเกิดฝนตกมากเป็น 2 เท่าของที่เคยเกิดขึ้น ส่งผลให้แม่น้ำ 4 สายมีปริมาณน้ำมากตั้งแต่ลุ่มน้ำยมที่ไม่มีเขื่อนกักเก็บจนเกิดน้ำท่วมใน จ.พะเยา แพร่ สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก

แล้วมวลน้ำก็ไหลมารวมกับแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่าน “บริเวณปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์” อันเป็นสถานีวัดน้ำ C.2 และไหลไป จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท “มีเขื่อนเจ้าพระยา” คอยกั้นผ่านเข้า จ.สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา แล้วมีสถานี C.29A หน้าศูนย์ศิลปาชีพบางไทรวัดระดับน้ำตลอดก่อนเข้า จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี กรุงเทพฯ ออกอ่าวไทย

...

ทำให้มีคำถามว่า “น้ำจะเข้าพื้นที่ กทม.หรือไม่” หากดูในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. “ร่องมรสุม” เลื่อนลงมาที่ภาคกลางตอนบน ในขณะนี้ถ้าฝนตกใต้เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

แล้วถ้า “เกิดปรากฏการณ์ Rain bomb จากภาวะโลกร้อน” ที่เป็นฝนตกกระหน่ำไม่ลืมหูลืมตา “ปริมาณน้ำฝนช่วงสั้นๆทะลุขีดจำกัด” ก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ง่าย หากไม่มีการเตรียมตัวในการป้องกันอย่างดี มีประสิทธิภาพเพียงพอก็จะทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายได้

เช่นนี้ถ้าดูสถานการณ์ตอนนี้ “น้ำภาคเหนือ” ที่กำลังจะไหลลงมาสู่ภาคกลางเพื่อออกทะเลอ่าวไทยนั้น “ไม่น่าจะเข้าท่วม กทม.แน่นอน” เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำในปี 2554 คราวนั้นมีพายุเข้าในไทย 5 ลูก ตั้งแต่เดือน มิ.ย.พายุไหหม่า เดือน ก.ค.พายุนกเตน เดือน ก.ย.พายุไห่ถาง เดือน ต.ค.พายุเนสาด และพายุนาลแก

อีกทั้งฝนสะสมก็เริ่มต้นเร็วกว่าปกติแถมฝนไม่ทิ้งช่วงจนฝนเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าปกติ 24% มีค่าสูงในรอบ 61 ปี ถ้าดูน้ำ 4 เขื่อนหลัก (24 ส.ค.54) ยังรับน้ำได้ 4,647 ล้าน ลบ.ม. ส่วนสถานี C.2 น้ำผ่านที่ 2,284 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 4,689 ลบ.ม./วินาที) การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 1,832 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุดที่ 3,726 ลบ.ม./วินาที)

ขณะที่ในปี 2567 “คาดว่าพายุจะเคลื่อนเข้าไทย 1–2 ลูก” มี โอกาสสูงผ่านภาคอีสาน และภาคเหนือในเดือน ก.ย.-ต.ค. แต่ถ้าดูฝน สะสมตั้งแต่ ม.ค.-20 ส.ค. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ฝนสะสม 934 มม.หรือต่ำกว่าค่าปกติ 4% ส่วนน้ำ 4 เขื่อนยังรับน้ำได้ 12,071 ล้าน ลบ.ม. สถานี C.2 มีน้ำผ่าน 837 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าค่าสูงสุด 2,860 ลบ.ม./วินาที)

การระบายน้ำผ่านสถานี C.13 อยู่ที่ 499 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าค่าสูงสุด 2,700 ลบ.ม./วินาที) ดังนั้นโอกาส กทม.น้ำท่วมเหมือนปี 2554 น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำด้วยเช่นกัน

ตอกย้ำว่า “โอกาสน้ำจะท่วม กทม.และภาคกลางเหมือนปี 2554 หรือไม่” มีปัจจัยสำคัญ 4 ประการ คือ ประการแรก... “มวลน้ำภาคเหนือ” ที่ไหลลงมานั้นยังมีเขื่อนคอยกักน้ำอยู่ ยกเว้นแม่น้ำยมฝนมากผ่านสถานี C.13 เฉลี่ย 2,800-3,000 ลบ.ม./วินาที เช่นนี้ จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ก็จะมีน้ำท่วมมากขึ้น

แล้วหากตรวจวัดที่สถานีสูบน้ำ C.29A ได้เกิน 2,500 ลบ.ม./วินาที จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วง จ.ปทุมธานี นนทบุรี ถึงกรุงเทพฯ จะมีระดับสูงขึ้นเกินกว่า 1 เมตรจากปกติ ส่งผลให้เกิดน้ำจะล้นตลิ่งได้

ประการที่สอง...“เดือน ก.ย.–ต.ค.มักมีพายุ 1–2 ลูก” หากฝนตกท้ายเขื่อนสิริกิติ์ และภูมิพลมาก ทั้งเป็นฝน Rain bomb ตกหนักเฉพาะจุดนานมีโอกาสทำให้ภาคกลาง และ จ.ปทุมธานี กรุงเทพฯ น้ำไหลเข้าท่วมมากขึ้นได้

ปัจจัยที่สาม...“เดือน ต.ค.เป็นเดือนที่น้ำทะเลหนุนสูง” การระบายน้ำจากคลองลงแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยทำไม่ได้มาก ทำให้น้ำท่วมนานขึ้น ปัจจัยที่สี่...“การบริหารจัดการน้ำ” ก็ต้องมีการเตรียมตัวของเมืองในการขุดลอกคู คลอง กั้นตลิ่ง การระบายน้ำลงทะเล และพร่องน้ำจากเขื่อนให้ได้แต่เนิ่นๆก่อนที่น้ำเหนือจะหลากลงมา

...

“ฉะนั้นปัจจัยน้ำที่จะท่วมถึง จ.ปทุมธานี นนทบุรี กทม.ในเดือน ก.ย.-ต.ค.ก็คือน้ำเหนือไหลหลากบวกกับพายุเข้าในไทย ฝนตกหนักท้ายเขื่อน และน้ำทะเลหนุน แล้วยิ่งถ้าจัดการป้องกันน้ำท่วมไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งนี้ล้วนสามารถก่อเกิดน้ำท่วมได้ทั้งสิ้นจึงต้องจับตาดูปริมาณน้ำฝนตกในเดือน ก.ย.และเดือน ต.ค.นี้ให้ดี” ดร.สนธิว่า

ทว่าปัจจัยทำให้ “น้ำท่วม กทม.” ในปีนี้ถ้าป้องกันไม่ดีอาจท่วมรอการระบายหนักแน่ๆ เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนประเทศไทยเข้าสู่ภาวะลานีญา ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ธ.ค. 2567-ก.พ.2568 ทำให้ครึ่งปีหลังจะมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นที่อาจจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมจาก 4 เรื่องสำคัญ คือ...

เรื่องแรก...“ท่อระบายน้ำใน กทม.” มีขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 30-60 ซม. ส่วนท่อใหญ่สุด 80 ซม. หากฝนตกเกิน 60 มม./ชม. มักระบายน้ำไม่ทันแล้วยิ่งฝนเกิน 100 มม./ชม.ก็เกิดน้ำท่วมขังรอระบายอย่างน้อย 2 ชม.

เรื่องที่สอง...“หากน้ำเหนือไหลหลากมาก” มักทำให้ กทม.ไม่มีที่รับน้ำพอจนเกิดน้ำท่วม “ต้องสร้างกำแพงเขื่อนสูงริมแม่น้ำเจ้าพระยากั้นไว้” เพื่อป้องกันน้ำไหลหลากลงมาไปลงทะเลที่ จ.สมุทรปราการ

...

เรื่องที่สาม...“กทม.เป็นพื้นที่ราบลุ่ม” ลักษณะแอ่งรับน้ำการระบายน้ำลงสู่ทะเลทำได้ยาก ทั้งระยะเวลาที่น้ำบนถนนเดินทางไปถึงอุโมงค์ระบายลงสู่คลอง และแม่น้ำเจ้าพระยาใช้เวลานาน ด้วยท่อระบายน้ำใต้ถนนมีขนาดเล็ก 60 ซม. เพราะมีการวางท่อมานานแล้วไม่ได้เผื่อสำหรับเมืองขยาย และประชากรแออัดในอนาคต

เรื่องที่สี่... “ท่อระบายน้ำมีขยะและเศษไขมัน” จากการทิ้งของครัวเรือนอุดตันท่อตื้นเขิน ในคลองก็เต็มไปด้วยขยะจนน้ำจากคลองถูกสูบไปลงอุโมงค์ 8 แห่ง ถูกขยะขวางการไหลกว่าจะถึงอุโมงค์น้ำก็ท่วมเต็มถนน

สุดท้ายย้ำว่า “สถานการณ์น้ำปีนี้คงไม่ท่วมหนักเหมือนปี 2554” เพียงแต่จะท่วมมาก หรือท่วมน้อยต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำ “อันเป็นโจทย์ใหญ่ให้รัฐบาลชุดใหม่” ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มิเช่นนั้นลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็จะยังคงเกิดน้ำท่วมแบบนี้ทุกๆปี.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม