ฉางต่วนจิง ศาสตร์แห่งการยืดหยุ่นและพลิกแพลง (เจ้าหยุย เขียน อธิคม สวัสดิญาณ แปล เต๋าประยุกต์ พิมพ์ครั้งที่4 พ.ศ.2549) บรรพที่ 9 พิชัยสงคราม บทที่ 46 การฝึกทหาร

ขงจื๊อกล่าวว่า การส่งไพร่พลไปรบโดยไม่ได้ฝึกอบรม เท่ากับส่งพวกเขาไปอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก

การฝึกทหารจะช่วยให้ไพร่พลเข้าใจสัญญาณธง และวิธีรบ เมื่อสอนทหารหนึ่งคน เรียนรู้วิธีรบแล้ว ให้หนึ่งคนสอนอีกสิบคน เมื่อสิบคนรบได้แล้ว ให้สิบคนนั้นสอนอีกร้อยคน เป็นลำดับเช่นนี้ จนครบสามทัพ

การจัดกระบวนทัพนั้นมีมากมายแตกต่างกัน โดยทั่วไป ปีกซ้ายจะอยู่ในตำแหน่งซิงหลง (มังกรเขียว หรือทิศตะวันออก หรือด้านซ้าย) ปีกขวาจะอยู่ในตำแหน่งไป๋หู่ (เสือขาว หรือทิศตะวันตก หรือด้านขวา)

กองหน้าจะอยู่ในตำแหน่งจูเซี่ย (นกยูงแดง หรือทิศใต้ หรือด้านหน้า) กองหลังอยู่ในตำแหน่งเสวียนอู่ (เต่าดำ หรือทิศเหนือ หรือด้านหลัง) และกองกลางจะอยู่ในตำแหน่งเซวียนหยวน (ชื่อดาว ร่างมังกรเหลือง)

ตำแหน่งที่แม่ทัพอยู่นั้น ด้านซ้ายมีกระบี่ ด้านขวามีทวนขอ ด้านหน้ามีโล่เกราะ ตรงกลางมีธงและกลอง

เมื่อนักรบได้ยินเสียงกลองคือบุก ได้ยินเสียงระฆังคือถอย กระบวนทัพเบญจธาตุ มีรูปลักษณ์เช่นนี้

จึงกล่าวกันว่า การปกครองไพร่พลให้ได้ดุจปกครองไพร่พลไม่กี่คน คือการจัดอัตรากำลังพลตามลำดับขั้นตอนอย่างรัดกุม

การบังคับบัญชากองทัพใหญ่ ทำให้ได้ดุจบังคับบัญชาหน่วยทหารเล็กๆ ออกสู้รบ คือการใช้สัญญาณต่างๆ อย่างแจ่มชัด มีระเบียบวินัย

การถ่ายทอดด้วยคำพูดนั้น ต่างก็ฟังไม่ได้ยิน จึงต้องใช้กลอง ฆ้อง และระฆังบังคับบัญชา

การปฏิบัติการของทหารหน่วยต่างๆ นั้น ต่างก็มองไม่เห็น จึงต้องใช้ธงบังคับบัญชา เห็นได้ชัดกว่า

กลอง ฆ้อง ระฆังใช้บังคับบัญชาหู ธงชนิดต่างๆ ใช้บังคับบัญชาตา วินัยและโทษทัณฑ์ใช้บังคับบัญชาใจ

...

หูฟังคำสั่งเสียง ต้องฟังชัดแจ้ง ตาฟังคำสั่งสี ต้องดูชัดเจน และใจฟังคำสั่งโทษทัณฑ์ ต้องเข้มงวด

หากไร้ซึ่งสามสิ่งนี้ แม้อาจชนะก็จักพ่าย

เพราะฉะนั้น เมื่อขุนพลสั่งบุก นักรบไพร่พลจึงบุกหน้าประจัญบาน เมื่อขุนพลชี้ไปทางใด นักรบไพร่พลจึงดาหน้าไปทางนั้น

ธงทิวปลิวไสว ไพร่พลม้าศึกดุจคลื่น ขณะสู้รบชุลมุนวุ่นวายนั้น ต้องทำให้ทหารไม่สับสน ขณะสู้รบในสภาพไม่แน่ชัดกลางสนามรบที่อลหม่านนั้น จะต้องจัดกำลังส่วนต่างๆอย่างเหมาะสม

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

เช่นนี้แล้วจึงจะไม่แตกพ่าย นี่คือวิธีบังคับบัญชากองทัพขนาดใหญ่สู้รบ

เมื่อนักรบไพร่พลได้รับการฝึกอบรมอย่างดี และมีศัสตราวุธคมกริบ ขุนพลจึงถือธงบังคับบัญชา เรียกชุมนุมนักรบไพร่พลทำพิธีประกาศปฏิญญาในกองทัพ ทำให้นักรบไพร่พลมีขวัญกำลังใจดีเยี่ยม

ในสภาพเช่นนี้ ถึงสั่งให้บุกน้ำลุยไฟ พวกเขาแม้ต้องตาย ก็จะไม่อาจปฏิเสธ นี่คือวิธีฝึกทหาร

ฟังวิธีฝึกทหารตำรับพิชัยสงครามขงจื๊อ (ขอย้ำ ขงจื๊อ ไม่ใช่ซุนวู) แล้วมโนถึงความสับสนอลหม่านของสงครามสมัยโบราณ สมัยที่ยังใช้อาวุธเย็น แล้วอาจคิดว่าวิธีฝึกทหารแบบขงจื๊อล้าสมัย

ย้อนไปอ่านบทแรกของวิธีฝึกทหาร...เมื่อสอนทหารหนึ่งคนเรียนรู้วิธีรบแล้ว ให้หนึ่งคนสอนอีกสิบคน เมื่อสิบคนรบได้แล้ว ให้สิบคนสอนอีกร้อยคน ตามลำดับเช่นนี้จนครบสามทัพ วิธีฝึกทหารเช่นนี้ ยังใช้ได้ในสมัยนี้...

เท่าที่ผมฟังมา ขุนพลเรียกทหารสามสี่คน...เขาก็ไม่มา คงไม่ต้องคิดถึงสงครามต่อไป แค่เริ่มก็ออกลางแพ้เสียแล้ว.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม