"เด็กล้มโต แก่ล้มตาย" คำนี้มีไว้เตือนใจผู้สูงวัยให้มีสติระมัดระวังไม่ให้ตัวเองหกล้ม เด็กวิ่งซนหกล้มก็ยังเติบโตตามวัย แต่คนแก่ถ้าหกล้มแล้วมีสิทธิถึงตายได้ ฉะนั้นทั้งตัวผู้สูงวัย ลูกหลานและผู้ดูแล ต้องคอยระวังอย่าให้ผู้สูงวัยหกล้มเป็นอันขาด
ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานรับเลือกราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เคยแนะนำผมว่า ผู้สูงอายุมีความเปราะบางจากหลายโรค โดยเฉพาะโรคทางกระดูกและข้อ และกล้ามเนื้อ คนที่อายุเกิน 50 ปี มวลกล้ามเนื้อจะลดลง 1% ต่อปี ถ้าอายุ 70 ปีไม่ออกกำลังใดๆ มวลกล้ามเนื้อจะหายไป 20% มวลกระดูกก็เช่นกัน ถ้าอายุเกิน 50 ปีมวลกระดูกจะลดลง โดยเฉพาะเพศหญิง หลังหมดประจำเดือนยิ่งลดลงเร็วกว่าผู้ชาย
เมื่อมวลกระดูกและมวลกล้ามเนื้อลดลง หากผู้สูงอายุพลัดตกหกล้ม กระดูกจะหักได้ง่าย 3 ตำแหน่งที่หักง่ายที่สุดคือ กระดูกข้อสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกข้อสะโพก หากผู้สูงอายุไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ข้อสะโพกหักแล้วไม่ได้รับการผ่าตัด หลังผ่านไป 1 ปี ในจำนวน 100 คน จะเหลือรอดชีวิตเพียง 60–65 คน เสียชีวิต 35–40 คน นอกจากนี้บางคนที่กระดูกหักแล้วไม่ดูแลรักษาให้ดี อาจเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดเหตุกระดูกบริเวณอื่นหักด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีประชากรสูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ถึง 20% ของประชากรทั้งหมด เมื่อผู้สูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ภาวะการดูแลผู้ป่วยสะโพกหักก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ แพทย์ต้องรักษาผ่าตัดคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว ในภาพรวมถือเป็นภาวะท้าทายสำหรับประเทศ เนื่องจากค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในส่วนนี้ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย
ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสภาวิชาชีพของหมอกระดูกทั่วประเทศ มีสมาชิกประมาณ 3 พันคน เล็งเห็นความสำคัญของภาวะกระดูกหักง่ายในผู้สูงอายุ จึงประสานความร่วมมือกับคณะ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และธนาคารกรุงไทย ริเริ่มจัดทำ โครงการต้นแบบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันกระดูกหักและหักซ้ำบริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทย และการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์
...
หลักการคือจะออก คัดกรอง ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงพลัดตกหกล้ม แล้ว รณรงค์ให้ความรู้ แก่ผู้มีความเสี่ยงรวมถึงคนรอบกาย เพื่อหาวิธีดูแลป้องกันลดอุบัติเหตุที่อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดข้อสะโพกหัก
การคัดกรองนั้นจะให้ อสม.ออกไปเก็บข้อมูลสำรวจกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ ประเมินความแข็งแรงของกระดูก และวัดมวลกล้ามเนื้อ หากสูญเสียกล้ามเนื้อมากกว่า 30% ถือว่า มีความเสี่ยงสูง จะพลัดตกหกล้มแล้วกระดูกหัก
เมื่อทราบข้อมูลผู้สูงวัยกลุ่มเสี่ยงแล้วก็จะ ให้ความรู้แนะนำข้อปฏิบัติ อาทิ ให้เดินทุกวัน หมั่นออกกำลังกาย กินโปรตีน กินแคลเซียม เพื่อเสริมกระดูกและกล้ามเนื้อ ตรวจวัดสายตาประสิทธิภาพการมองเห็น ให้ความรู้ในการจัดอุปกรณ์ภายในบ้านและห้องน้ำ เช่น ควรมีราวจับตามฝาผนัง ปูพื้นด้วยวัสดุกันลื่น หลีกเลี่ยงพื้นต่างระดับ มีไฟสว่างทั่วถึงทุกที่ เป็นต้น
เคยมีกรณีศึกษาที่ จ.น่าน เมื่อปี 2563 น่านมีผู้ป่วยสะโพกหัก 331 คน มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แต่หลังจากจัดทีมรณรงค์ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ รู้จักบริหารร่างกายเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพียงแค่ 1 ปี จำนวนผู้ป่วยสะโพกหักในปี 2564 เหลือ 262 คน หรือลดลง 20.8% ลงอยู่ที่อันดับ 5
วันที่ 23 ก.ย.นี้จะมีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการต้นแบบฯใน 10 จังหวัดและ 1 เขตใน กทม. รอลุ้นกันนะครับว่าจะมีพื้นที่ไหนบ้างที่นำร่องเป็นต้นแบบ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการดูแลสุขภาพประชาชน และเก็บรวบรวมข้อมูลนำไปสู่การผลักดันออกนโยบายระดับประเทศ.
“ลมกรด”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม