ฟาร์มไก่ไข่มาตรฐานบนพื้นที่เกือบ 100 ไร่ ในพื้นที่ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้การนำบริหารของ นายสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ เจ้าของฟาร์มรพีพัฒน์ หนึ่งในต้นแบบผู้ประกอบการไทยที่มีการปรับตัวจนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง “ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี” ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นำกลุ่มผู้ประกอบการ SME ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้แนวทางการปรับตัวของฟาร์มรพีพัฒน์ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ เปลี่ยนจากฟาร์มเลี้ยงไก่แบบดั้งเดิม สู่ฟาร์มระบบปิด จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ต้นทุนในการเลี้ยงไก่ไข่ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ทั้งต้นทุน แม่ไก่สาว ต้นทุนอาหารไก่ ค่ายา ค่าไฟ รวมถึงต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ขณะที่ไข่ไก่ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีวัฏจักรเปลี่ยนแปลงเร็ว ราคาปรับขึ้นลงตลอดเวลา เกษตรกรผู้เลี้ยงไม่สามารถควบคุม หรือกำหนดราคาเองได้
“ผมก็เริ่มมารีโนเวทฟาร์ม มาทำเป็นกึ่งออโตเมติก ต้องลงทุนสูงครับ ที่บอกว่าต้องอาศัยแบงก์กรุงเทพเข้ามา คือต้องกู้ยืมเพิ่มขึ้น อะไรเพิ่มขึ้น แต่เดิมถ้าเราเลี้ยงไก่แบบเดิม คน 1 คน เลี้ยงไก่ได้ 5,000 ตัว แต่พอผมเป็นกึ่งออโตเมติก มีเครื่องให้อาหาร คนหนึ่งเลี้ยงได้ 20,000 ตัว ทำให้ต้นทุนเราถูกลง” นายสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ เจ้าของฟาร์มรพีพัฒน์ กล่าว
กว่า 70% ของต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ คือ อาหารไก่ โดยฟาร์มรพีพัฒน์ได้คิดค้นสูตรอาหารไก่ และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เข้ามาช่วยคำนวณปริมาณการให้อาหาร นอกจากช่วยควบคุมคุณภาพของอาหารไก่ได้แล้ว ยังลดความเสี่ยงจากราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยการเลี้ยงไก่ไข่ด้วยฟาร์มระบบปิด ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศให้ไก่ตลอดเวลา ทำให้มีต้นทุนค่าไฟเฉลี่ยประมาณ 5-6 แสนบาทต่อเดือน นายสุพัฒน์จึงนำมูลไก่ไปผลิตไบไอแก๊ส เพื่อปั่นกระแสไฟใช้ภายในฟาร์ม ขณะที่มูลไก่บางส่วนนำไปหมักเพื่อจำหน่ายเป็นปุ๋ย ซากไก่ที่ตายแล้วจะนำไปเป็นอาหารจระเข้ในฟาร์ม ซึ่งทั้งหมดเป็นการทำธุรกิจตามแนวทาง Zero Waste คือการลดขยะ หรือของเสียให้เป็นศูนย์ ผมแก้ปัญหานี้มาเมื่อ 8 ปีที่แล้วละ ตอนนี้ผมไม่ห่วงเรื่องไฟฟ้าจะขึ้นหรือลง
นายสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ เจ้าของฟาร์มรพีพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า “เวลามันเปลี่ยนไปๆ เทคโนโลยีมันก็เปลี่ยนไป ถ้าเรายืนอยู่จุดเดิมอะครับ เราจะแย่ ผมโชคดี ผมทำงานกับธนาคารกรุงเทพมานาน ทำมาตั้งแต่ปี 2521 เข้ามา 40 กว่าปีแล้วครับ พอรู้ใจกันแล้วครับ”
ฟาร์มรพีพัฒน์ มีการบริหารจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยได้จัดสรรพื้นที่ภายในฟาร์มที่มีเกือบ 100 ไร่ แบ่งเป็น 20% พื้นที่สำหรับเลี้ยงไก่ และอีก 80% สำหรับปลูกต้นไม้ ตอบโจทย์กระแสโลกอย่าง Sustainability ส่งผลดีต่อการค้าขาย การขยายตลาด รวมทั้งการขอสินเชื่อเพื่อนำมายกระดับและพัฒนาฟาร์มให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ปัจจุบันฟาร์มรพีพัฒน์สามารถผลิตไข่ไก่ป้อนตลาดได้กว่า 300,000 ฟองต่อวัน สร้างรายได้ ได้กว่า 200 ล้านบาทต่อปี พร้อมฝากถึงผู้ประกอบการสินค้าเกษตรไทย อย่าคำนึงถึงเพียงราคาที่ขายได้ เพราะสิ่งสำคัญคือต้นทุน และความคุ้มค่าในการลงทุน หากสามารถช่วยควบคุมต้นทุนให้ต่ำได้ โดยสินค้ามีคุณภาพ ก็จะสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและการเติบโตได้อย่างยั่งยืน