ปลัด มท.และนายกสมาคมแม่บ้าน มท. เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรมภาคใต้ เชื่อทุกคนต่างมีความสุข เพราะได้ สนองงานตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทำให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้จากภูมิปัญญาที่ได้สืบสาน และรักษาจากรุ่นสู่รุ่น สุดปลื้มปีนี้มีผู้ส่งผลงานผ้าและ งานหัตถกรรมล้นหลามกว่า 8,600 พันชิ้น เพิ่มจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคใต้มีผู้ส่งผลงานประเภทผ้า ถึง 1,370 ผืน งานหัตถกรรม 87 ชิ้น

ที่โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 7 ก.ย. เวลา 10.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรมภาคใต้ โดยมี นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางมณีรัตน์ พรหมเขียว ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา คณะผู้บริหารจังหวัดสงขลา คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ช่างต้นแบบสิ่งทอ ร่วมพิธี

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกวาระหนึ่งที่ตนมั่นใจว่าพวกเราชาวมหาดไทย ตลอดจนช่างทอผ้าและคนทำผ้าในพื้นที่ภาคใต้ทุกคนต่างมีความสุข เพราะว่าทุกคนที่มาในพื้นที่นี้ได้สนองงานตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในห้วงตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั้งพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ “Sustainable Fashion” จนทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้จากภูมิปัญญาที่ได้สืบสานและรักษานับเนื่องแต่ในรุ่นปู่ย่าตายายและบรรพบุรุษ มาสร้างโอกาสขยายผลต่อยอด โดยมีแนวพระดำริเป็นหลักชัยให้ประสบความสำเร็จ ดังตัวอย่างของจังหวัดกระบี่ คือ “อ่าวลึกบาติก” ที่เคยมีรายได้จากผ้าไทยปีละ 600,000 บาท หลังจากที่ได้น้อมนำพระดำริไปพัฒนาการผลิตผ้าบาติก ทำให้ปัจจุบันนี้มีรายได้พุ่งทะยานไปถึงปีละเกือบ 60 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่จังหวัดสงขลา จากเดิมขายได้หลาละ 380 บาท หลังจากน้อมนำพระดำริไปต่อยอด ปัจจุบันมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นหลาละ 2,500 บาท มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่เพิ่มพูนและมั่นคง

...

นายสุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า ในปีนี้มีผู้ส่งผ้าเข้าประกวดมากกว่า 8,000 ชิ้น เพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่านๆ มาอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทั้งหมดเกิดมาจากการที่ทุกคนช่วยกันสนองงานอย่างแข็งขัน ซึ่งพระองค์ท่านได้นำเอาสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญา” มาให้พวกเรา ทั้งการพระราชทานผ้าลายพระราชทานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภาคใต้ เป็นภาคที่ได้รับพระกรุณาคุณอย่างล้นเหลือ เพราะพระองค์ได้พระราชทานผ้าบาติก ลายพระราชทานจำนวนมาก ทั้งลายปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง ลายท้องทะเลไทย ลายป่าแดนใต้ ลายดอกรักราชกัญญา และชบาปัตตานี ทำให้มีแบบลวดลาย สี เทคนิค วิธีการ รวมทั้งการแปรรูปหรือออกแบบตัดเย็บ

อีกทั้งพระองค์ท่านมีเมตตาเตือนสติให้เรารู้ว่า “ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นจะต้องมีการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น” โดยให้มหาดไทยเป็น “โซ่ข้อกลาง” ในการคุยกับคนในพื้นที่ ภายใต้องค์ความรู้ต่างๆ อันก่อให้เกิดรายได้ให้กับประชาชนทุกถิ่นที่อย่างมหาศาล รวมถึงยังได้พระราชทานแนวพระดำริในการตลาด โดยการนำเสนอการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับชุมชน หรือวิถีชีวิต ทำให้งานที่มาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นในความรู้สึกของผู้บริโภค สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนวโน้มของแฟชั่น การใช้สีธรรมชาติ ในหนังสือพระราชทาน “Thai Textiles Trend Book” เล่มต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ ด้วยพระองค์ได้พระราชทานพระกรุณาให้คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ช่วยในการขับเคลื่อนแนวทางการออกแบบตัดเย็บ การตลาด และการย้อมสีธรรมชาติอีกด้วย ซึ่งแฟชั่นจะยั่งยืนต้องมีการต่อยอด การออกแบบตัดเย็บ ที่ทำให้คนเกิดแรงจูงใจในการสวมใส่ผ้าไทยในทุกวันและทุกโอกาส จากปัจเจกบุคคลขยายเป็นครอบครัว เป็นกลุ่ม และเป็น Episode ใหม่คือ “Sustainable Village” หรือหมู่บ้านยั่งยืน อันหมายถึง จากจุดเล็กๆขยายเป็นจุดใหญ่ และ “การทำงานเป็นทีม” ส่งผลอย่างชัดเจนให้ประชาชนมีความสุข เมื่อคนไทยทุกคนมีความสุขแบบองค์รวม “ประเทศชาติก็มั่นคง ประชาชนก็มีความสุข”

ด้านนายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” มาจัดประกวดจำนวน 14 ประเภท โดยมีผู้ส่งผลงานผ้าและงานหัตถกรรมรวม 8,651 ชิ้น แบ่งเป็นประเภทผ้า 8,117 ผืน งานหัตถกรรม 534 ชิ้น ซึ่งในส่วนของภาคใต้มีผู้ส่งผลงานประเภทผ้า 1,370 ผืน และงานหัตถกรรม 87 ชิ้น

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่