การอนุรักษ์พรรณไม้มีค่าให้คงอยู่ และสามารถขยายพันธุ์ได้มากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในการดำเนินงานสำคัญที่จะทำให้พรรณไม้มีค่าได้เจริญเติบโตและงอกงามสมบูรณ์ ดังนั้นในปี 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ จึงได้ร่วมกับมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพมหานคร และจังหวัดชุมพร ดำเนินการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ต้นพลองใหญ่ ซึ่งเป็นพรรณไม้มีค่าที่เหลือจำนวนไม่มาก ภายใต้กิจกรรมปลูกต้นพลองใหญ่คืนสู่ถิ่นกำเนิด ในโครงการ “พระราชทานต้นพลองใหญ่คืนสู่ถิ่นกำเนิด” เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดจากต้นพลองใหญ่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลูก ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2535 โดยกรมป่าไม้ได้นำเมล็ดต้นพลองใหญ่เพาะพันธุ์กล้าไม้ จำนวนกว่า 1,500 ต้น และได้นำกล้าไม้จำนวน 720 ต้น มาร่วมในกิจกรรมปลูกต้นพลองใหญ่คืนสู่ถิ่นกำเนิด ณ พื้นที่จุดชมวิวแหลมหัวโม่ง – คอกวาง ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวร ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 เนื้อที่ประมาณ 18 ไร่

โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงปลูกต้นพลองใหญ่ พร้อมพระราชทานกล้าต้นพลองใหญ่ให้แก่ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานต่าง ๆ นำไปปลูกภายใต้โครงการ "พระราชทานต้นพลองใหญ่คืนสู่ถิ่นกำเนิด" ต่อไป นับเป็นกิจกรรมสำคัญที่ได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2567

จากกิจกรรมครั้งนี้ กรมป่าไม้เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อระบบนิเวศ ทำให้ปริมาณต้นพลองใหญ่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการประสานงานกับพื้นที่ จ.ชุมพร คอยร่วมดูแลรักษาและบำรุงต้นพลองใหญ่ให้เจริญเติบโตงอกงาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและส่งเสริมให้ทรัพยากรป่าไม้คงความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หลังจากนี้ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ จ.ชุมพร จะเก็บเมล็ดพันธุ์ต้นพลองใหญ่ เพื่อนำมาเพาะพันธุ์กล้าไม้ขยายพื้นที่ปลูกให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป

สำหรับต้นพลองใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อว่า พลองกินลูก (ประจวบคีรีขันธ์) มีลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 9 ม. เปลือกสีน้ำตาลแดง แตกเป็นร่องละเอียดหรือเป็นแผ่นรูปไข่บาง ๆ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 2.5–5 ซม. ยาว 6–10 ซม. ก้านใบยาว 0.6–1.5 ซม. แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ช่อดอกแบบช่อแตกง่ามหรือช่อกระจุกกลม ยาว 1.5–3 ซม. ออกตามกิ่งเกลี้ยงใต้รอยแผลใบหรือตามซอกใบ ช่อละ 25–50 ดอก ดอกสีฟ้าเข้มถึงม่วง มักออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ส่วนผลเป็นแบบเม็ดเดียว รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8–1 ซม. เมื่อสุกจะเป็นสีแดงถึงสีม่วงดำ ชอบขึ้นในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง โดยเฉพาะป่าดิบชื้นใกล้ชายทะเล ใกล้ลำธาร เขาหินปูน ที่ระดับทะเลถึงความสูงประมาณ 300 ม. สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกตกแต่งภูมิทัศน์ ส่วนน้ำหวานจากดอกยังเป็นอาหารของผึ้ง ผีเสื้อ และแมลงอื่น ๆ ได้ ผลของต้นพลองใหญ่สามารถรับประทานได้ และยังเป็นพืชอาหารของนก กระรอก และสัตว์ป่าอื่น ๆ ในประเทศไทยพบการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ ที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ยะลา นราธิวาส และในต่างประเทศจะพบที่อินเดีย เวียดนาม คาบสมุทรมลายู และอินโดนีเซีย