วันเสาร์สบายๆวันนี้ขอพาทุกท่านไปดูความพร้อมของเมืองน่านที่กำลังตั้งแท่นเสนอตัวเข้าชิงเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network) ของยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี 2568 หลังจากยื่นเรื่องไปครั้งแรกเมื่อปี 2566 แต่พลาดทางเทคนิคทำให้ไม่ผ่านการคัดเลือก เลยนำประสบการณ์มาทบทวนปรับปรุงขอแก้มืออีกหน

ยูเนสโกให้คำจำกัดความ เมืองสร้างสรรค์ คือการร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐ ในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่น มาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองที่มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์

น่านแม้เป็นเมืองเล็กๆ แต่มีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนไม่น้อย และได้รับการพัฒนาเติบโตในระดับเวทีโลก โดยในปี 2566 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) นำโดย น.อ.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. และ เทศบาลเมืองน่าน นำโดยคุณสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรี ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ขับเคลื่อนให้ ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน (Nan Old City) ได้รับเลือกเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก จาก Green Destinations องค์กรรับรองมาตรฐานแหล่ง ท่องเที่ยวยั่งยืนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ในประเด็น “การจัดการขยะภาคท่องเที่ยวด้วยกระบวนการทางสังคม” ด้วยการจัดหาอาสาสมัครกลุ่มผู้สูงวัยมาช่วยให้ความรู้เรื่องแยกขยะกับนักท่องเที่ยวบริเวณตลาดข่วงเมืองน่าน ส่งผลให้ขยะที่ตลาดข่วงเมืองน่านลดลงได้จาก 1-1.5 ตันต่อวัน เหลือเพียง 0.2 ตันต่อวัน

...

สำหรับการเตรียมพร้อมเข้าชิงเมืองสร้างสรรค์ในปี 2568 อพท. เทศบาลเมืองน่าน หน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น ได้ดำเนินโครงการตามกรอบและแนวทางหลักเกณฑ์ด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (GSTC) ให้ความสำคัญกับปราชญ์ ศิลปิน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้รักษามรดกทางภูมิปัญญาของเมือง ส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

รวมทั้งขับเคลื่อน การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนและก่อเกิดพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นำเสนอผลงานด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ตามวิสัยทัศน์ “เมืองแห่งความสุข และสร้างสรรค์” และต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการ SE รองรับการกลับมาทำงานที่บ้านเกิดของเยาวชนในอนาคต

ตัวอย่างภูมิปัญญาท้องถิ่นของน่านที่ขึ้นชื่อเช่น โคมมะเต้า หรือ โคมหม่าเต้า เป็นโคมแขวนประเภทหนึ่ง ในอดีตใช้ตกแต่งคุ้มเจ้านาย ยามมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือน หรือตกแต่งวัดวาอารามเมื่อถึงวันสำคัญทางประเพณี และยังเป็นของประดิษฐ์ที่ชาวบ้านนิยมทำมาถวายพระ เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้ชีวิตมีความสุขความเจริญ โคมมะเต้าด้านในใช้ไม้ไผ่ทำโครง มีทั้งแบบมุมเหลี่ยมเหมือนเพชร และทรงกลมเหมือนแตงโม ด้านนอกติดด้วยกระดาษสา เพิ่มลวดลายด้วยกระดาษสีทอง พร้อมหางโคมเป็นแถบยาว

หรือถ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก็มีหลายแห่งเช่นชุมชนบ่อสวก ต้นแบบวิถีชีวิตเรียบง่าย การดำรงชีพพื้นบ้าน กับแหล่งเตาเผาโบราณ ที่ดัดแปลงมาจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (โฮงฮักสุขภาพ) มีฐานบริการขัดเท้าแช่เท้า ฮุมยาด้วยสมุนไพรสดในท้องถิ่น เช่น ตะไคร้หอม ไพร ฟ้าทะลายโจร หญ้าเอ็นยืด เกลือแช่เท้าสมุนไพร

น่านมีหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านที่เปี่ยมมนต์เสน่ห์มากมาย ที่สำคัญคนในพื้นที่ร่วมแรงร่วมใจแข็งขัน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าน่านพร้อมแล้วที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลกอย่างแท้จริง.

“ลมกรด”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม