นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สายงานบริหารกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2567 โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน ได้พิจารณาและเห็นชอบ “ให้บันทึกการขอรับค่าใช้จ่ายจากหน่วยบริการ ในอัตรา 7,000 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่าย” เนื่องจากปีงบประมาณ 2567 มีการใช้บริการผู้ป่วยใน (IP) เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้งบประมาณที่ได้รับ 40,269 ล้านบาท ไม่เพียงพอในการจ่ายที่อัตรา 8,350 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (AdjRW) โดยตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566-15 ส.ค. 2567 มีการจัดสรรเงินค่าบริการผู้ป่วยในไปแล้ว 41,355 ล้านบาท ทำให้งบในส่วนนี้ติดลบ 1,086 ล้านบาท รวมถึงไม่เพียงพอสำหรับจ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการหลังวันที่ 15-29 ส.ค.2567 ซึ่งมีหน่วยบริการส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,731 ล้านบาท ทั้งนี้ สปสช.ได้มีการเสนอเรื่องเพื่อพิจารณากรณีผลงานบริการมากกว่าเป้าหมายที่ได้รับงบประมาณในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 โดยในส่วนค่าบริการผู้ป่วยในมีการเห็นชอบให้ปรับอัตราจ่ายจาก 8,350 บาท/AdjRW ลงมาอยู่ที่ 7,000 บาท/AdjRW ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2567 เป็นต้นไป พร้อมเห็นชอบในหลักการให้ สปสช.ใช้เงินกันระดับประเทศกรณีมีงบประมาณเหลือหลังจ่ายเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการที่ได้รับผลกระทบจากระบบ DRGs ฉบับที่ 6 ที่มีคงเหลืออยู่ที่ 1,217 ล้านบาท มาสนับสนุนการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน

“ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 - ส.ค. 2567 อัตราจ่ายอยู่ที่ 8,350/AdjRW มีเพียง 3 เดือนสุดท้ายที่จ่าย 7,000 บาท/AdjRW และถ้าหากจะหาเงินมาเติมเพื่อให้ 3 เดือนนี้ครบ 8,350/AdjRW ต้องใช้เงินอีก 2,285 ล้านบาท แต่มติบอร์ด สปสช.จะจ่ายให้อย่างต่ำกว่า 7,000 บาท/AdjRW ก่อน” รพ.การุณย์ กล่าวและว่า ส่วนแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยในจากนี้ไป มี 2 แนวทาง คือ 1. การปรับเกลี่ยงบจากรายการหรือประเภทบริการอื่นและนำมาจ่ายให้ก่อน หรือ 2.รองบกลางจำนวน 7,100 ล้านบาท ตามที่ รมว.สาธารณสุข เสนอ ครม.ไปแล้ว ซึ่งหากได้งบส่วนนี้มาและงบส่วนอื่นๆ ไม่มีปัญหาแล้วก็อาจพิจารณานำงบส่วนนี้มาจ่ายชดเชยเป็นค่าบริการผู้ป่วยในเพิ่มเติมต่อไป

...