สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์พร้อมตัวแทนผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและประมงพื้นบ้านในเขต อ.อัมพวา อ.บางคนที และ อ.เมืองสมุทรสงคราม ยื่นฟ้องบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำและกรรมการบริหารรวม 9 คน เป็นคดีสิ่งแวดล้อม เรียกค่าสินไหมทดแทนรวมกว่า 2.4 พันล้านบาท หลังเดินทางไปฟ้องเอาผิดหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐในความผิดฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ต่อศาลปกครองกลาง มีทั้ง รมว. มหาดไทย รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมทรัพย์ฯ กระทรวงการคลัง
ที่ศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี สมาชิกเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง พร้อมตัวแทนผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าและประมงพื้นบ้าน ในเขต อ.อัมพวา อ.บางคนที และ อ.เมืองสมุทรสงคราม จากกว่า 1,400 คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำ เดินทางมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พร้อมว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดีและคณะทำงานสิ่งแวดล้อมจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อยื่นฟ้องบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษและกรรมการบริหารรวม 9 คน เป็นคดีสิ่งแวดล้อม
นายปัญญาเปิดเผยว่า พวกตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิมานาน การประกอบอาชีพย่ำแย่ ขาดรายได้ มีหนี้สิน เพราะสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยง ทั้งปลา กุ้ง ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ เนื่องจากในบ่อเพาะเลี้ยงมีแต่ปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ที่ตนและกลุ่มสมาชิกพบการแพร่พันธุ์ปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 55 แต่มารุนแรงช่วงปี 59-60 ไปร้องเรียนมาหลายที่แล้วกับนายกรัฐมนตรี กรรมการสิทธิมนุษยชน แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จากช่วงแรกระบาดอยู่ในพื้นที่แคบๆจนแพร่กระจายไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ พอเกิดปัญหารัฐไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือเยียวยา ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มาฟ้องร้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้บริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหาย โดยเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน รวมทั้งจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำบังคับให้บริษัทเอกชน ผู้ก่อมลพิษแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
...
นายปัญญากล่าวต่อว่า ค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเรียกร้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจํานวนพื้นที่เพาะเลี้ยงในอัตราไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560-2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้ามีสมาชิกกว่า 1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์นํ้ารวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินรวมกว่า 1,982,000,000 บาท 2.กลุ่มประมงพื้นบ้าน เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจํานวนวัน ในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ.2560-2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีสมาชิกกว่า 380 ราย รวมค่าสินไหมทดแทนในเขต จ.สมุทรสงคราม ทั้ง 2 ส่วนเป็นเงินกว่า 2,486,450,000 บาท
ด้านว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดี สภาทนายความฯ กล่าวว่า ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอฟ้องคดีแบบกลุ่มในวันที่ 4 พ.ย. 67 เวลา 09.00 น. ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยจะสามารถคัดค้าน การไต่สวนคำร้องขอฟ้องคดีแบบกลุ่มนั้น เราจะต้องแสดงให้เห็นว่าสมาชิกกลุ่มมีขอบเขตอย่างไรให้ชัดเจน ในกรณีที่จะเลือกใช้ขอบเขตของจังหวัดแต่ละจังหวัด โดยจะใช้ จ.สมุทรสงครามเป็นขอบเขตในจังหวัดแรกและใช้อาชีพของชาวประมง ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยง ใน จ.สมุทร สงคราม มีสมาชิกที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยงทั้งสิ้น 1,400 คน ในการไต่สวนจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสมาชิกแต่ละคนมีความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องกัน
“ผมมีหลักฐานที่ค่อนข้างมั่นใจว่าสามารถเอาผิดผู้ประกอบการและมีหลักฐานบ่งชี้ว่าใครเป็นผู้นำเข้าและเพาะเลี้ยงเป็นที่แรก ทั้งยังมีความเชื่อมโยงกรณีที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่เคยมีปลาหมอคางดำมาก่อน เป็นเอกสารทางราชการ เบื้องต้นมั่นใจว่าหลักฐานเหล่านี้สามารถพิสูจน์คดีความรับผิดทางแพ่งได้” ว่าที่ร้อยตรีสมชายกล่าว
ที่ศาลปกครองกลาง เช้าวันเดียวกันตัวแทนจากสภาทนายความฯในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพประมงพื้นบ้าน จ.สมุทรสงคราม เดินทางไปยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ ในความผิดฐานละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้ถูกฟ้องคดี 1-18 ประกอบด้วย 1.กรมประมง 2.อธิบดีกรมประมง 3.คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 4. คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง 5. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 8.อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 9.คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 10. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 13.คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 14.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15.อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 16.กระทรวงมหาดไทย 17.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 18.กระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อนำเงินเยียวยาฉุกเฉินต่อผู้ฟ้องตามเวลาที่ศาลกำหนด นอกจากนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีติดตามเงินจากบริษัทเอกชนผู้ก่อให้เกิดผลกระทบชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหาย
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่