ถึงแม้จะเบาใจได้บ้างที่สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้น่าจะไม่วิกฤติเหมือนปี 54 แต่อุทกภัยรอบนี้ก็ได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนอย่างมาก หอการค้าไทยประเมินมูลค่าความเสียหายในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 4-6 พันล้านบาท ยังไม่รู้ว่าในเดือน ก.ย.–ต.ค. นี้จะมีฝนหนักอีกขนาดไหน และเจอมรสุมถล่มกี่ลูก

รัฐบาลนายกฯอิ๊งค์ส่งสัญญาณจะปัดฝุ่น ทำเมกะโปรเจกต์แผนจัดการน้ำสมัยนายกฯยิ่งลักษณ์ มูลค่า 2 แสนล้านบาท ถ้ารัฐบาลมีเงินทำได้จริง และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ผมขอสนับสนุนเต็มที่ ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องแบกรับความเดือดร้อนเช่นนี้ทุกปี

อย่างไรก็ตาม แผนจัดการน้ำ 2 แสนล้านบาท เป็นโครงการระยะยาว แต่ในส่วน การแก้ไขปัญหาในมิติเร่งด่วน ก็จำเป็นต้องดำเนินการเช่นกัน โดยเฉพาะจังหวัดที่แม่น้ำยมไหลผ่าน เพราะแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำหลักของภาคเหนือเพียงสายเดียวที่ไม่มีเขื่อน ทำให้บริหารจัดการน้ำไม่ได้ น้ำมายังไงก็ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ ขณะที่แม่น้ำปิงมีเขื่อนภูมิพล ความจุ 13,462 ล้าน ลบ.ม. แม่น้ำวังมีเขื่อนกิ่วลมกับเขื่อนกิ่วคอหมา ความจุ 276 ล้าน ลบ.ม. แม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์ ความจุ 9,510 ล้าน ลบ.ม.

คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อดีต สว. และอดีต ผวจ.แพร่ 3 ปี ได้เผยแนวคิดในการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนว่า ต้องปรับ ระบบแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ในลุ่มน้ำยม เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่และประชาชนได้เตรียมการล่วงหน้า และเพิ่มศักยภาพเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน

จากข้อมูลกรมชลประทานปี 2560 มีสถานีสำรวจอุทกภัยภาคเหนือตอนบน ดังนี้ สถานีหลักในการสำรวจอุทกวิทยา แม่น้ำปิงความยาว 658 กม. มีสถานี 95 แห่ง คิดเป็น 14.4% แม่น้ำวัง ความยาว 392 กม. มีสถานี 35 แห่ง คิดเป็น 8.9% แม่น้ำยม ความยาว 735 กม. มีสถานี 34 แห่ง คิดเป็น 4.6% แม่น้ำน่าน ความยาว 700 กม. มีสถานี 21 แห่ง คิดเป็น 3% นอกจากนี้ สถานีโทรมาตรขนาดเล็ก มี 26 สถานี ในแม่น้ำยมไม่มี สถานีอุตุนิยมวิทยา มี 66 สถานี ในแม่น้ำยมก็ไม่มีเช่นกัน และ สถานีสำรวจข้อมูลอุตุนิยมแบบโทรมาตรขนาดเล็ก มี 57 สถานี ในแม่น้ำยมมี 11 สถานี

...

ระดับตลิ่งของแม่น้ำยมสูงเฉลี่ย 10 เมตร (ตลิ่งจากท้องน้ำ) ความสามารถปกติรับน้ำได้ในความเร็วแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เช่นที่ จ.แพร่ อ.สอง รับน้ำได้สูงสุด 2,131 ลบ.ม./วินาที อ.เมืองแพร่ 992 ลบ.ม./วินาที และ อ.วังชิ้น 1,219 ลบ.ม./วินาที ส่วน จ.สุโขทัย รับน้ำสูงสุดที่ อ.ศรีสัชนาลัย 1,965 ลบ.ม./วินาที อ.เมืองสุโขทัย รับได้ 510 ลบ.ม./วินาที กรณีน้ำมามากกว่าปกติโดยที่ไม่มีระบบแจ้งอุทกวิทยาที่ครอบคลุม ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

ปัญหาซ้ำซากที่รอการแก้ไขคือ ขาดระบบการแจ้งเตือนภัยที่พอเพียงและสมดุลกับลำน้ำยม เมื่อราชการประกาศแจ้งเตือนออกไปก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และไม่ชัดเจน ไม่ทราบความเร็วน้ำ ปริมาณน้ำ ระยะเวลาใกล้เคียงของการเดินทางของมวลน้ำที่มาถึงชุมชน ทำให้การเผชิญเหตุมีความล่อแหลม เปราะบาง เกิดข้อผิดพลาดจนชาวบ้านขาดความเชื่อถือ สาเหตุมาจากเครื่องมืออุทกวิทยาในแม่น้ำยมมีไม่เพียงพอและไม่สมดุล

คุณอภิชาติเสนอแนวทางแก้ไข ดังนี้

1.ให้หน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่และประชาชนช่วยกันเตรียมการล่วงหน้า ต้องพึ่งระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

2.ปรับระบบแจ้งเตือนภัย โดยเพิ่มสถานีสำรวจอุทกวิทยาให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน อาจใช้ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยหรือเอกชนเข้ามาวิจัยสำรวจเพื่อสร้างสถานีและระบบแจ้งเตือนภัยทั้งลุ่มน้ำยม เพื่อให้รู้ความเร็วน้ำ ปริมาณน้ำ ระยะเวลาการเดินทางของมวลน้ำ และลักษณะกายภาพของลำน้ำยมที่สัมพันธ์กับชุมชนต่างๆที่อยู่ริมน้ำ

3.งบประมาณ ควรพิจารณาใช้เงินงบกลางในการแก้ปัญหาเร่งด่วน สร้างเพิ่มสถานีอุทกวิทยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบแจ้งเตือนภัย ซึ่งจะใช้ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเกือบทุกปี

เมื่อเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ บางทีวิธีแก้ไขอาจไม่ต้องใช้งบก้อนใหญ่เสมอไป ถ้ารัฐบาลเห็นว่าแนวทางนี้เป็นประโยชน์ ก็นำไปพิจารณาเป็นมิติเร่งด่วนได้ครับ.

“ลมกรด”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม