หลายคนรู้ข่าวก็อดสงสัยไม่ได้ ว่าเหตุไฉน? พระสงฆ์วัดเก่าแก่แหล่งผีตาโขนด่านซ้ายวันดีคืนดี...เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มอบอำนาจ “นักกฎหมาย” ยื่นฟ้อง...กรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดเลยเป็นจำเลย ให้เพิกถอนที่ดิน 106 ไร่

ซึ่งประดิษฐาน “พระธาตุศรีสองรัก” สร้างเพื่อสื่อ “ความรักความเข้าใจ” ของ 2 กษัตริย์กับประชาชน 2 แผ่นดินคือ “ไทย” และ “ลาว” เมื่อปี 2103 หรือราว 464 ปีนับแต่วันนั้นถึงวันนี้

ผู้คนไม่น้อยต่างเศร้าใจด้วยให้รู้สึกว่า...ศาสนาที่เคยผ่องใสดุจแก้วเจียระไนในสายตาสาธุชนกลับต้องมาแตกร้าว ด้วยผู้นำสงฆ์ท้องถิ่นกำลังก้าวสู่โลกวัชระ...จนศรัทธามัวหมองแทบสลายไปตามกัน

ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 หลังการยื่นฟ้องไม่นาน รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา อาจารย์ภาควิชา มานุษยวิทยา คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ได้แสดงมุมมองผ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวันไว้น่ารับฟัง...“ต้องดูเหตุผลเบื้องหน้าเบื้องหลังทำไมพระธาตุศรีสองรัก จึงถูกตั้งคำถามตลอดเวลาหลังเฟื่องฟูในแง่ทุนนิยม มีอะไรหลายอย่างเข้าไปเกี่ยวข้อง จึง ถามว่าจริงๆ แล้วใครดูแลจัดการ เลยเป็นประเด็นอ่อนไหวให้มีองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้องในปี 2558 ว่าตกลงที่ดินเป็นของใคร”

อีกตอนหนึ่ง รศ.ดร.เอกรินทร์ แสดงทัศนะพอสรุปได้ “...เพราะเรื่องการจัดการรายได้เข้าท้องถิ่น มีการสร้างสมดุล การตรวจสอบไปได้ระดับหนึ่ง องค์กรที่ว่าก็ยังไม่ยอมปล่อยมือเหมือนพระธาตุเป็นจุดรวมอำนาจในแง่อัตลักษณ์ดึงดูดท่องเที่ยวในหลายมิติทุนนิยมพอสมควร ทำให้พยายามเอาที่ดินหรือพยายามเคลมในเชิงประวัติศาสตร์เป็นประเด็นการฟ้องร้อง”

...


และยังระบุอีกว่า “คนท้องถิ่นแทบไม่รู้ ถ้าถามว่าเป็นเรื่องของการใช้อำนาจก็มีส่วนที่มองได้แบบนั้น เพราะอยู่ดีๆ คนท้องถิ่นแทบตั้งหลักไม่ได้ หรือคนที่เคารพพระธาตุก็แทบไม่รู้ตัวว่า ศาสนสถานท้องถิ่นที่สำคัญกำลังถูกยึด...ทางออกควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นคนด่านซ้าย หรือคนที่มีส่วนได้เสียกับพระธาตุ”

อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า...แม้จะถกเถียงว่าเป็นของใคร ถ้าในแง่ประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรม หรือความผูกพัน ผู้คนจะเห็นว่าพระธาตุในระบบความเชื่อท้องถิ่น ต่อเนื่องระบบผีประจำเมือง หรือระบบจิตวิญญาณที่สร้างระบบความเชื่อ เกิดธรรมเนียม วัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ให้คนดำรงอยู่ได้หลายมิติ

เช่น ทำมาหากิน พึ่งพาระบบความเชื่อ ไม่ใช่งมงาย แต่เยียวยาจิตใจในวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเจ็บป่วย การทำมาหากินที่ลำบากหรือเดือดร้อน เป็นการสร้างสรรค์เชิงบวก เช่น การรื้อฟื้นประเพณี การบูรณะพื้นที่ให้งดงาม จึงต้องเปิดเวทีฟังความคิด

ในเดือนและปีเดียวกัน ศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักเขียนนักประวัติศาสตร์ชั้นนำ ได้เขียนถึงกรณีนี้ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564 ชี้ให้เห็นพระธาตุศรีสองรัก เป็นวัดไม่ว่า แต่อย่ายุ่งเรื่องที่ดิน โดยได้กล่าวว่า...บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ศาลผีประจำเมือง ภาครัฐควรเข้าใจว่านี่คือเรื่องผีเมือง แต่ถูกมองเป็นเรื่องของพุทธ...มองเป็นวัด รัฐขาดความรู้ว่ามีศาลผี 2 แห่งบริเวณดังกล่าว

ศ.ศรีศักดิ์ ย้ำว่า การขึ้นทะเบียนเป็นวัดเกิดจากความไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องของผีไม่ใช่พุทธ ตรงนั้นมีผีเมือง ชาวบ้าน เป็นฝ่ายถูก ราชการไม่รู้เรื่องต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ การอ้างศิลาจารึกพระธาตุสะท้อนถึงความไม่เข้าใจ ข้อความในจารึกไม่ได้บอกเป็นวัด แต่กล่าวถึงการสร้างพระธาตุ

“ทางออกทางการคงเป็นวัดก็ได้แต่อย่าไปยุ่งกับที่ดิน ให้เคารพความเชื่อเรื่องผีของชาวบ้าน”

อีกมุมมองมาจาก พิสิทธิ์ ทับทอง นักวิจัยและวิเคราะห์ฐานะองค์ความรู้เมืองด่านซ้าย ในฐานะประธานเครือข่ายศิลป์สร้างสรรค์กับกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย และหนึ่งในลูกผึ้งลูกเทียนชาวด่านซ้าย ที่ยื่นฟ้องสำนักราชการรัฐแห่งหนึ่งต่อกระบวนการยุติธรรม เรื่อง...คัดค้านการเป็นวัด

กรณีมีผู้ได้รับมอบอำนาจดำเนินการฟ้องที่ดิน 106 ไร่ พระธาตุศรีสองรัก

พิสิทธิ์ได้เคยยื่นคำร้อง 2 ครั้งคือ 10 พฤษภาคม 2566 แต่ถูกตีตก ครั้งที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ 4 กันยายน 2566 และมีคำสั่งไม่รับฟ้องเมื่อ 29 สิงหาคม 2566 ด้วยเหตุผล...“หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นวัด โดยบันทึกที่ดินในทะเบียนหรือหนังสือประวัติวัด การออกหนังสือรับรองสถานภาพวัดพระธาตุศรีสองรัก เป็นเพียงรับรองตามหลักฐาน มิได้มีผลตามกฎหมายให้เป็นวัดเช่นกัน

...

จึงเห็นว่าการทำทะเบียนวัดหนังสือประวัติวัดทั่วราช อาณาจักร และหนังสือรับรองสถานภาพวัดไม่ได้มีผลทางกฎหมายให้เป็นวัดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แต่อย่างใด”

พิสิทธิ์จึงเห็นเหตุผลข้อที่ว่า...หนังสือรับรองดังกล่าวมิได้มีผลตามกฎหมายให้พระธาตุศรีสองรักเป็นวัด ซึ่งขัดกับรายละเอียดคำฟ้องเรื่องที่ดิน ที่อ้างมีหลักฐานแสดงศาสนสถานและพระสงฆ์จำพรรษา 5 รูป

อีกทั้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่ว่า... “เป็นการกระทำโดยหน่วยงานรัฐต่อรัฐ และไม่สนใจจะกระทบจิตใจลูกผึ้งลูกเทียนอย่างไร ทั้งที่ความจริงไม่เคยมีพระสงฆ์มาทำกิจกรรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เว้นงานทำบุญล้างพระธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งปีหนึ่งมีวันเดียวเท่านั้น”

พิสิทธิ์ทบทวนให้ฟังอีกว่า...เคยมีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์หน้าพระธาตุเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2565 หลังลูกผึ้งลูกเทียนรู้เหตุฮุบที่ดิน 106 ไร่เกือบปี ครั้งนั้นมีการแสดงสัญลักษณ์ลงชื่อคัดค้านการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมากถึง 2,004 เสียง หลังจากนั้นอีกเพียงเดือนเดียวเพิ่มโดยสมัครใจเป็น 16,481 คน

...

...จากประชากรด่านซ้าย 5 หมื่นคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรที่มี

ผลสรุปของคดีนี้จะลงเอยอย่างไร เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรอดู คาดว่า...จะรู้ผลก่อนสิ้นปีนี้แน่นอน หวังใจลึกๆ เพียงว่าอย่าให้ช่องว่างระหว่าง “คน” กับ “วัด”...ถ่างห่างมากขึ้นแบบกู่ ไม่กลับ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม