ความคืบหน้ากรณีรองผู้อำนวยการธนาคารออมสินร่วมชี้แจงและหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนเกือบ 2 แสนคน เกี่ยวกับการทำประกันสินเชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ร่วมกับธนาคารออมสิน โดยระบุว่า ธนาคารออมสินมีนโยบายตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 ให้ครูฯพิจารณาเองว่าจะทำประกันหรือไม่นั้น

นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ อดีต ผอ.สกสค.จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ผู้บริหารธนาคารออมสินพูดเหมือนง่ายว่า ครูไม่ต้องทำประกันสินเชื่อ ช.พ.ค.ก็ได้ แต่ข้อเท็จจริงเป็นไปได้ยาก เพราะยังมีคนค้ำประกันเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกเว้นว่าธนาคารออมสินจะมีนโยบายชัดเจนให้ถอนชื่อผู้ค้ำประกันออกไปได้ โดยเฉพาะครูฯที่มียอดหนี้คงเหลือน้อยกว่าเงินฌาปนกิจ ช.พ.ค.ที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม มีครูฯจำนวนมากสะท้อนความเห็นออกมาแล้วว่า คงต้องยอมต่อประกันต่อไป เพราะถ้าไม่ทำคนค้ำประกันก็ต้องรับผิดชอบหนี้เต็มๆ และผ่านมาทางธนาคารออมสินเองเป็นผู้ประสานแจ้งให้ครูฯมาทำประกัน และยังประสานกับทางบริษัทประกันอีกด้วย

นายสานิตย์ กล่าวอีกว่า เมื่อครูฯเกษียณยังต้องจ่ายเบี้ยประกันจำนวนหลายหมื่นบาทในทุกปี ก็ยังคิดไม่ออกเลยว่าจะดำรงชีวิตกันเช่นไร ดังนั้น ตนจึงอยากเรียกร้อง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ, นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ รวมถึง ดร.พีระพันธ์
เหมะรัต เลขาธิการ สกสค. ให้เข้ามาช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของครูฯหลายแสนคน โดยเฉพาะครูลูกหนี้ที่เกษียณฯไปแล้วได้รับเงินเดือนน้อยลง ทุกวันนี้แทบจะไม่เพียงพอกับการผ่อนจ่ายหนี้ธนาคารออมสิน แล้วยังต้องมาจ่ายเบี้ยประกันในแต่ละปีจำนวนหลายหมื่นบาทอีก ทั้งที่ยอดหนี้ลดลงจนเหลือน้อยกว่าเงินฌาปนกิจ ช.พ.ค.ที่ได้รับ และถ้ารัฐมนตรีศึกษาฯ และเลขาธิการ สกสค.ไม่สามารถช่วยเหลือครูฯได้ ตนก็ต้องไปพึ่งความช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต่อไป.

...