เมื่อวันที่  22 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ทีม “กทม.สปสช.” ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมจัดทัพระบบบริการในการขับเคลื่อนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน กรุงเทพมหานคร” ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 38 จี๊ด–ทองคำ บำเพ็ญ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

พร้อมติดตามการให้บริการเชิงรุกเจาะเลือดที่บ้านในชุมชน บริการที่ร้านยาคุณภาพ ที่ร่วมให้บริการตามนโยบาย และติด “ตราสัญลักษณ์ใหม่ 30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อแสดงจุดบริการตามนโยบาย

ตอกย้ำนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน กรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ กรุงเทพฯ ให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องรอคิว

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ถือเป็นโอกาสดีที่กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของหน่วยบริการ

รวมทั้งระบบการให้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่นและการให้บริการเชิงรุก เช่น บริการเจาะเลือดที่บ้าน การบริการดูแลกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยเภสัชกร ณ หน่วยบริการทางเลือกใหม่ อย่างร้านยาคุณภาพ

...

ภารกิจต่อจากนี้คณะจะลงพื้นที่หน่วยบริการใกล้เคียง เพื่อเริ่มติดตราสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงจุดให้บริการของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ ย้ำว่า..สัญลักษณ์นี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้และสามารถเข้ารับบริการได้ โดยปราศจากความกังวล

“ขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยรับผิดชอบหลักในพื้นที่ ที่สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบาย รวมถึง

หน่วยงานสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขด้านต่างๆ ที่ร่วมผลักดันโดยเพิ่ม..หน่วยบริการปฐมภูมิทางเลือกใหม่ อันเป็นทางเลือกที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของหน่วยบริการที่มีอยู่เดิมในระบบ”

ที่สำคัญ..เป็นความสำเร็จในการยกระดับ “ระบบสุขภาพ”ให้กับประชาชน “ชาวกรุงเทพมหานคร”

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสริมว่า อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบปฐมภูมิของ กทม. ซึ่งนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ตามที่กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. เป็นเจ้าภาพร่วมกัน

เพื่อขยายบริการดูแลสุขภาพในพื้นที่ โดยในส่วนบริการปฐมภูมิของ กทม. ไม่เพียงแต่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งเท่านั้น แต่เรายังมีสาขาของศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 77 แห่ง ที่เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้..มีพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำอยู่ เปรียบเหมือน..หมอน้อยๆใกล้บ้านคอยดูแลให้พี่น้องประชาชนได้

รวมถึงผู้ที่มาจากภูมิลำเนาอื่นและเข้ามาทำงานใน กทม. ก็สามารถใช้บริการได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีประชาชนจากปริมณฑลที่เข้ามาทำงานในแต่ละวัน ทำให้อาจมีประชาชน 10 ล้านคนที่เข้ามารับบริการสุขภาพใน กทม.นี้ นอกจากนี้ยังมี 7 หน่วยบริการนวัตกรรมที่เชื่อมโยงบริการ หรือที่เรียกกันว่า “7 นางฟ้า” ก็สามารถเข้ารับบริการได้เช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้ สปสช.คงไม่ปล่อยให้ไม่ได้มาตรฐานบริการ

เหล่านี้...จะเป็นที่พึ่งบริการส่วนหนึ่ง ทำให้ไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาล

สำหรับในส่วนของโรงพยาบาล กทม. มีอีกโครงการที่กำลังทดลองอยู่ในขอบเขตที่ 3 ในการทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนของหน่วยบริการในพื้นที่ ทั้งโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์สังกัด กทม. โรงพยาบาลเลิศสินสังกัดกรมการแพทย์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่เป็นโรงเรียนแพทย์

รวมถึง “ระดับปฐมภูมิ” ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น สมาชิกร้านยาคุณภาพ ซึ่งได้เชื่อมโยง “ระบบข้อมูล” ครบหมดแล้ว จึงอยากเชิญชวนให้หน่วยนวัตกรรม 7 นางฟ้า เช่น คลินิกทันตกรรม คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกกายภาพบำบัด ให้เข้ามาร่วมในระบบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะได้มีข้อมูลในการให้บริการที่ครบถ้วน

“ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยข้อมูลพีดีพีเอ เพราะเรื่องนี้ทาง กทม. ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว สำคัญพอๆ กับข้อมูลสุขภาพของท่านที่อยู่ในระบบของเราที่จะช่วยให้หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้าถึงข้อมูลรักษาท่านได้เร็ว เข้าใจ เงื่อนไขการรักษาก่อนหน้าและการใช้ยา”

...

ขออยากให้เชื่อมั่น..เราเริ่มในปฐมภูมิเป็นหลัก และโรงพยาบาล ต่างๆ ในเครือข่าย ความร่วมมือในวันนี้เป็นภาพที่ดีมากหน่วยงานจากหลายๆสังกัดมาร่วมกัน หวังว่าด้วยความร่วมมือจะทำให้คนทุกคนใน กทม.รู้สึกได้ว่า กทม.เป็นเมืองน่าอยู่

นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สปสช.อยู่บนหลักการ “30 บาท รักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน” สนับสนุน “ระบบบริการสุขภาพเริ่มต้นที่ปฐมภูมิ” ที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง นอกจากไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ..ประจำของท่านแล้ว ยังไปรักษาที่หน่วยบริการทางเลือกใหม่ที่เพิ่มความสะดวกได้

“ร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนเข้าร่วม ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่ไหนก็รับบริการได้ โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว หากเกินศักยภาพการดูแลก็เข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ..ประจำของท่าน โดยกรณีที่ต้องรักษาต่อที่โรงพยาบาลก็จะได้รับใบส่งตัวเพื่อไปรับบริการ”

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาฯ สปสช. บอกอีกว่า สำหรับหน่วยบริการทางเลือกใหม่ นอกจากคลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยและคลินิกเทคนิคการแพทย์ ฯลฯ ข้างต้นแล้ว ยังมีบริการเพิ่มเติมในพื้นที่ กทม. อื่นๆ อาทิ

บริการการแพทย์ทางไกลกับ 4 แอปสุขภาพ..พร้อมจัดส่งยาถึงบ้าน บริการเจาะเลือดที่บ้านผู้ป่วยให้ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงรถทันตกรรมเคลื่อนที่ดูแลสุขภาพช่องปากกลุ่มเปราะบาง รถคลินิกเวชกรรมเคลื่อนที่ในชุมชน..เพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคเบื้องต้น บริการการแพทย์ทางไกล ผ่านแอปสุขภาพ ณ ห้องพยาบาลโรงเรียนมัธยม

บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุก..สถานีสุขภาพ รับบริการผ่าน “ตู้เทเลเมดิซีน” ติดตั้งที่ชุมชน..ห้างฯ บริการสุขภาพที่สถานีบริการน้ำมันและสถานีรถไฟฟ้าโดยคลินิกพยาบาล ขยายคลินิกฟอกไต 154 แห่ง

...

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” อย่างเต็มที่เต็มกำลัง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม