รองเลขาธิการ กพฐ.ชี้โรงเรียนไทยรัฐวิทยามีแนวทางการพัฒนาคนสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ยกย่องและชื่นชม “กำพล วัชรพล” ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีคุณูปการต่อเด็กไทย ชูหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา สอนเด็กให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ พร้อมฝากผู้บริหารโรงเรียนสร้าง Soft Power ในพื้นที่ พัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ รู้ลึกท้องถิ่น รักประเทศไทย และอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข

เป็นประจำทุกปีที่มูลนิธิไทยรัฐจัดประชุมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพให้เข้มข้น สำหรับปี 2567 ได้จัดขึ้นที่สวนนงนุช พัทยา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 29 ส.ค. เป็นการประชุมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ครั้งที่ 42 หัวข้อ “ไทยรัฐวิทยากับการพัฒนาที่ยั่งยืน” มี

นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานการประชุม และมีนายธวัชชัย ศรีทอง ผวจ.ชลบุรี นายปรเมศร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา นายนคร ผลลูกอินทร์ รองประธานสภา อบจ.ชลบุรี นายไพรวัลย์ อารมณ์ชื่น รองประธานภาพลักษณ์เมืองพัทยา นายพีระ สุนทรรัตน์ รองศึกษาธิการจังหวัดชลบุรี นายวัชร วัชรพล น.ส.จิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมไทยรัฐทีวีและออนไลน์ น.ส. ธนวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานคอนเทนต์ ไทยรัฐออนไลน์ นายสมชาย กรุสวนสมบัติ กรรมการมูลนิธิไทยรัฐ และนายวิเชน โพชนุกูล เลขาธิการมูลนิธิไทยรัฐ ร่วมงาน

นายสมชายกล่าวรายงานว่า ร.ร.ไทยรัฐวิทยาจำนวน 111 โรงเรียน ก่อตั้งขึ้นโดยนายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้ง นสพ.ไทยรัฐและอดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน ปัจจุบันมีนักเรียน 22,866 คน ผู้บริหารและครู

...

ผู้สอน 1,732 คน มีมูลนิธิไทยรัฐเป็นผู้อุปการะดูแลเติมเต็มในสิ่งที่ขาดแคลน เพื่อให้โอกาสเยาวชนในถิ่นทุรกันดารและเพื่อตอบแทนประชาชนที่อุดหนุนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐด้วยดีตลอดมา มีการจัดสัมมนาทางวิชาการสำหรับผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเป็นประจำทุกปี มูลนิธิไทยรัฐจะดำเนินการให้โรงเรียนขับเคลื่อนสถานศึกษาให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นโรงเรียนสอนคนดี มีคุณธรรม ผลิตคนดี มีคุณภาพสู่สังคม สอดคล้องกับการพัฒนาชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ เรื่องต่างๆเหล่านี้ถือว่าตรงกับเป้าหมายของสห ประชาชาติที่มีมติเมื่อปี 2558 ที่ให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกดำเนินการใน 17 เรื่องหลัก เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือเรื่องที่เกี่ยวกับด้านการศึกษาที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา เริ่มดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว

ขณะที่นายธีร์กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่ง ว่า หัวข้อไทยรัฐวิทยากับความยั่งยืน สอดคล้องในบริบทหลายเรื่อง ทั้งภารกิจของมูลนิธิไทยรัฐ ที่มีแนวทาง “เรียนดี มีคุณธรรม” และภารกิจกระทรวงศึกษาธิการของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่มีนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับมาแปลงเป็นนโยบาย 11 ข้อ ในการดำเนินการ มีกระบวนการที่พูดถึงแนวทางที่จะสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นกระบวนการที่น่าสนใจที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดผลหลายเรื่องในระยะยาว

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งที่อยากฝากผู้บริหารกลุ่มโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทุกคน คือ มาวันแรกต้องขอให้เรียนรู้ความเป็นมาพื้นฐานของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา รู้จักหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษาที่เป็นฐานของกระบวนการเรียนรู้ในหลายเรื่อง เป็นแนวทางการป้องกันเด็ก ครู บุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการจากภัยออนไลน์ รวมถึงอยากชวนทีมประสานทำหลักสูตรให้มีความเข้มแข็ง เป็นแกนกลางให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ เพราะเด็กต้องอยู่โลกออนไลน์โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันอยากให้คิดใหม่ วางแผนใหม่เกี่ยวกับหลักสูตรใหม่ๆ เช่น เรื่องอีสปอร์ต ที่ขณะนี้ยังไม่มีความเห็น หาจุดร่วมยังไม่ได้ ทั้งที่ตอนนี้มีการดำเนินการไปไกลแล้ว มีนักกีฬาอีสปอร์ตของจีนที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก กลุ่มโรงเรียนไทยรัฐวิทยาจะทำอย่างไรให้สามารถเดินต่อไปได้ โดยไม่สูญเสียกำลังคนในด้านนี้ไป

นายธีร์กล่าวต่อไปว่า อีกสิ่งที่น่าจะสอดรับกับทิศทางความยั่งยืน คือ การพัฒนากำลังคน ปัจจุบันมีเด็กเกิดใหม่เพียง 480,000 คน เป้าหมายในการพัฒนากำลังคนหายไปครึ่งหนึ่ง ถ้าเราดูแลเขาไม่มีคุณภาพรับรองอีก 10 ปีข้างหน้าคนอาจจะแตกต่างจากเดิม ฉะนั้นการพัฒนาคนจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมกัน เพราะเรื่องการศึกษา ไม่ใช่เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ทุกคนที่ต้องลุกขึ้นมาจัดการ กระทรวงศึกษาฯ เป็นเพียงเจ้าภาพหลักที่มีบุคลากร มีทรัพยากร มีจำนวนเจ้าหน้าที่มากกว่ากองทัพ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ต้องขอบคุณมูลนิธิไทยรัฐที่ช่วยให้เกิดกระบวนการทำงานของโรงเรียนที่มีความชัดเจน

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า ขอขอบคุณนายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งไทยรัฐ ที่มีคุณูปการต่อเด็กหลายหมื่นคน เพราะเด็กแต่ละรุ่นมีการหมุนเวียน ต้องมีการสร้างเด็กอย่างต่อเนื่อง ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศมีแกนเดียวกันคือ การพัฒนาเด็กตามบริบทของจังหวัดของพื้นที่ ตนมีความเชื่อว่าเราต้องสร้างเด็กที่รู้จักท้องถิ่นของตัวเอง รักประเทศไทยและสามารถอยู่ได้ในโลกได้อย่างมีความสุข

“ผมคิดว่าเราควรปลูกฝังให้เด็กรักท้องถิ่น เช่น รู้จักความเป็นมาของจังหวัดตนเอง รู้ลึกในจังหวัดตนเอง ต่อให้ไม่ใช่เป็นคนจังหวัดนั้น แต่ไปอาศัยอยู่จังหวัดนั้นก็ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมา รู้จักบริบทของพื้นที่จังหวัด เพราะในแต่ละจังหวัดมีองค์ความรู้มากมายที่ยังไม่ได้นำมาใช้ จะสอนเด็กอย่างไรให้มีความเข้าใจ มีความภาคภูมิใจเป็นคนในท้องถิ่น Soft Power ตัวจริงที่มีอยู่ในพื้นที่ไม่หายไปไหน หากคนไทยรู้จักท้องถิ่น ประวัติ ศาสตร์ของตนเอง รับรู้การสร้างชาติอาจจะไม่ต้องทะเลาะกันเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง รวมถึงควรจะเติมเรื่องความเป็นผู้ประกอบการและภาษาให้แก่เด็ก อยากชวนทุกท่านทำภารกิจหน้างานของตัวเองอย่างเต็มกำลังเพื่อให้เด็กๆเข้าใจและเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ ช่วยดูแลประเทศต่อไป ขอขอบคุณผู้บริหารไทยรัฐ ผู้บริหารกลุ่มโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ที่มีหัวใจดวงเดียวกันในการพัฒนาคนสู่ความยั่งยืน เพื่อทำให้เกิดมิติใหม่ของการพัฒนาทั้งในด้าน SDGs และการรักษาชาติ รักษาแผ่นดินไว้เป็นเรื่องเดียวกัน” นายธีร์กล่าวตอนท้าย

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่