ผู้บริหารไทยรัฐกรุ๊ป ชี้ ทีวีดิจิทัลทุกช่อง รอ กสทช. เคาะความชัดเจนกำกับดูแลหลังสิ้นสุดใบอนุญาต 2572 ด้าน "สุภาพ" ชี้ อันดับแรก แก้กฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หากไร้การประมูลต่อ

วันที่ 28 ส.ค. 67 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ผนึกกำลังครั้งประวัติศาสตร์กับสมาคมทีวีดิจิทัลและทีวีสาธารณะทุกช่อง จัดงาน "1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล" Beyond the Next Step เสวนาใหญ่ระดมสมองบุคคลในแวดวงวงการโทรทัศน์ และผลิตคอนเทนต์ระดับโลก ร่วมแสดงวิสัยทัศน์อนาคตทีวีดิจิทัลในฐานะ "โทรทัศน์แห่งชาติ" ก่อนและหลังสิ้นสุดใบอนุญาตปี 2572 เจาะลึก Soft Power สายคอนเทนต์ละครซีรีส์และวาไรตี้ในระดับโลก

ในงานนี้ คุณวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ ได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง ในหัวข้อ อีโคซิสเต็ม เพื่อการส่งเสริมกิจการโทรทัศน์ ว่า หลังจากนี้อีก 5 ปี ที่จะหมดอายุใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เชื่อว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายต้องการความชัดเจนโดยเร็วที่สุดว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร เพราะต้องรีบวางแผนตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากระยะเวลา 5 ปี มีไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลพยายามถาม กสทช. มาตลอดว่าทิศทางต่อจากนี้จะไปทางไหน จะมีการประมูลใบอนุญาต หรือจะสามารถต่ออายุใบอนุญาตได้เลย ซึ่งหากต่ออายุใบอนุญาตก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แต่เชื่อว่า ไม่ว่าความชัดเจนจะออกมารูปแบบไหนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก็จะรับได้

...

คุณวัชร ยอมรับว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกราย ประกอบธุรกิจบนกติกาและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ขณะที่บางแพลตฟอร์มและ OTT ไม่มีกฎกติกาอะไรเลย ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทำงานยากขึ้น เพราะผู้ชมมีทางเลือก แต่นับว่าเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้น กสทช. ควรหาวิธีเข้าไปกำกับดูแลบน OTT และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดเผยในเวทีสนทนาพิเศษ ทีวีดิจิทัล โทรทัศน์แห่งชาติว่า ถ้าไม่มีการประมูลใบอนุญาตต่อหลังสิ้นสุดใบอนุญาต 2572 อันดับแรกคือ ต้องแก้กฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เพราะถ้าไม่มีการประมูล เท่ากับผิดกฎหมาย แต่ถ้าแก้กฎหมายไม่ได้ ก็ต้องประมูลแบบเดิม ถ้ามีการประมูล คือกลับไปจุดเดิม อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ได้หารือร่วมกันว่า ถ้าไม่มีการประมูลใบอนุญาต จะต้องดำเนินการจ่ายเงินอย่างไรเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับได้ พร้อมยอมรับว่า ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกช่องเหนื่อยยาก ทุกย่างก้าวต้องพยายาม พร้อมคำถามว่าประมูลมาทำไม

ด้าน ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ยอมรับว่า ตลอดการถือครองใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการต้องเจอปัญหา ซึ่งเมื่อถึงปี 2572 ที่สิ้นสุดใบอนุญาต ไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีอะไรจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ซึ่งต้องประเมินกันอีกรอบ ส่วนการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ต้องมีความชัดเจนว่าดำเนินการอย่างไร โดยต้องอยู่ที่รัฐบาล พร้อมระบุว่าหลักการทุกอย่างในภาพใหญ่ กสทช. จะทำงานร่วมกันกับสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)