“ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก เตรียมรับมือฝีดาษลิง” แถลงการณ์วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ฉบับที่ 001/2567 กล่าวถึงผลสำรวจงานวิจัยในวารสาร New England ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566
รายงานว่า...ทหารอเมริกันผู้เคยได้รับวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษชนิดเดียวกันกับที่ประเทศไทยเคยใช้ในอดีต หรือวัคซีน ACAM2000 หรือวัคซีน JYNNEOS ในปัจจุบัน ในระหว่างปี 2545 ถึง 2560 จำนวน 2.6 ล้านคน พบว่า ...มีโอกาสติดเชื้อ ฝีดาษทุกชนิดลดลง
สำหรับประเทศไทยผู้ที่เกิดก่อนปี 2523 หรืออายุตั้งแต่ 44 ปีขึ้นไป...น่าจะได้รับการ “ปลูกฝี”...ป้องกันโรคฝีดาษไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยทั่วไปแล้ว โดยสามารถสังเกตแผลเป็นที่บริเวณหัวไหล่ของผู้ที่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ ซึ่งทำให้ช่วยลดอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคฝีดาษลิงได้
และ...กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนแล้ว
...
สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุน้อยกว่า 44 ปี หรือไม่เคยปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ ยังไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนในขณะนี้ เพราะยังสามารถใช้มาตรการป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ติดเชื้อหรือผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อฝีดาษลิง
เพราะตามข้อมูลของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน JYNNEOS รายงานว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจในอัตรา 8 ต่อ 10,000 ราย ซึ่งน้อยกว่าการฉีดวัคซีนจริงปรากฏตามรายงานในวารสาร Vaccine ฉบับเผยแพร่ออนไลน์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ซึ่งรายงานว่า....
การฉีดวัคซีน JYNNEOS อย่างน้อย 1 เข็ม มีโอกาสได้รับผลข้างเคียงต่อหัวใจในอัตรา 3.1 ต่อ 1,000 โดส อีกทั้งยังไม่เคยมีการวิจัยผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนชนิดนี้สำหรับประชากรไทยมาก่อนด้วย
ดังนั้นผู้ที่สมควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง จึงควรเป็นกลุ่มประชากรที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงและบุคลากรสาธารณสุขที่มีความเสี่ยง สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมากที่สุด รวมทั้งผู้มีอาชีพที่ต้องมีการสัมผัสแนบชิดทางผิวหนังกับผู้อื่น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” ที่ปรึกษา วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ย้ำว่า กรณีสำหรับผู้ที่ติดเชื้อฝีดาษลิงแล้ว...ให้กักตัวเองและรักษาตามอาการ
ทั้งนี้ ในกรรมวิธีของ “การแพทย์แผนไทย” ในการรักษาโรคระบาดที่มีผื่นหรือตุ่มตามผิวหนังนั้น มีหลักฐานปรากฏชัดเจนและได้ถูกรับรองตามกฎหมายในฐานะเป็น “ตำรับยา” และ “ตำรายา แผนไทย” ของชาติในการรับมือกับโรคระบาด ได้แก่ พระคัมภีร์ตักกะศิลาตามตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในสมัยรัชกาลที่ 5
สืบทอดภูมิปัญญามาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีขั้นตอนการรักษา 3 ขั้นตอน คือ ตำรับยาเพื่อขั้นตอนการกระทุ้งพิษไข้ด้วยยาห้าราก ตำรับยาเพื่อขั้นตอนการแปรไข้ภายในและรักษาผิวภายนอก และตำรับยาเพื่อขั้นตอนการครอบไข้ ซึ่งมีตำรับยาใน 3 ขั้นตอนนี้ รวม 7 ขนาน
นอกจากนี้ยังมี “ตำรับยาขาว” ซึ่งเป็นยาขนานเดียวตามตำรายาของศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่ามีสรรพคุณรักษาโรคระบาดได้หลายชนิด
...
อีกทั้งยังมีตำรับยาหลายขนานสำหรับรักษา “โรคฝีดาษ” โดยเฉพาะ ตามคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณ เล่ม 3 ของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร)
สำหรับ “การแพทย์แผนจีน” มีหลักการรักษาโรคตามภาวะร่างกายโดยมีพื้นฐานการขับพิษ-ขับร้อน การปรับความร้อนระดับเลือด การขับความชื้น การปรับสมดุลของม้าม กระเพาะอาหาร การบำรุงเลือดและพลัง เพื่อขับพิษและเสริมพลังพื้นฐานในการต่อสู้กับโรคฝีดาษลิง
ตอกย้ำด้วย...งานวิจัยเภสัชสมุนไพรปรากฏในวารสาร Frontiers in cellular and infection Microbiology (22 มี.ค.66) วิเคราะห์ด้วยกระบวนการทางโมเลกุล พบว่า ขมิ้นชันมีปฏิกิริยาต่อต้านไวรัสฝีดาษลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีกลไกการขัดขวางยับยั้งไวรัส ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรนำมาศึกษาและวิจัยต่อไป
“ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรที่มีราคาถูก เข้าถึงได้ทั่วไป คนไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งมีรายงานก่อนหน้านี้ว่าขมิ้นชันมีประสิทธิภาพในการยับยั้งกลไกในหลายขั้นตอนของไวรัสอีกหลายชนิด
นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรเดี่ยวที่มีศักยภาพในการต้านไวรัสหลายชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร มะขามป้อม เสลดพังพอนตัวเมีย ฯลฯ ซึ่งจะต้องมีการวิจัยเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงว่าจะมีศักยภาพและสามารถนำไปใช้รักษา “ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง” ต่อไปได้หรือไม่?
...
อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ แนะนำว่า “ผู้ป่วยฝีดาษลิง” ที่เลือกกักตัวเองอยู่ที่บ้าน สามารถขอรับคำปรึกษาและรับตำรับยากับคลินิกการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ การแพทย์แผนจีน ทั่วประเทศ รวมถึงสหคลินิก การแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
ซึ่งจะต้องมีการเก็บข้อมูล ติดตามผลและทำการศึกษาวิจัยผลการรักษาภายหลังต่อไป
สถานการณ์โรคระบาด “ฝีดาษลิง” ในต่างประเทศจนองค์การอนามัยโลกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน “คนไทย” เราต้องตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก แต่ให้มีความตระหนักในการป้องกัน...ระวังตัว และเตรียมความพร้อมในการวางแผนและกำหนดมาตรการอย่างรอบด้าน ประเทศไทยมีบุคลากร ความรู้และภูมิปัญญารับมือได้
ตอกย้ำข้อมูลรายงานจากองค์การอนามัยโลก (23 ส.ค.67) การระบาดยังเป็นในผู้ใหญ่ผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นวิธีการแพร่ที่สำคัญที่สุด...ไวรัส “ฝีดาษลิง” น่ากลัวแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะติดกันได้ง่ายๆ การติดไม่ใช่ง่ายขนาด...ละอองฝอยแบบโควิด ที่ต้องจับใส่หน้ากากเวลาอยู่ในที่ชุมชน หรือรถสาธารณะ
...ตั้งสติ ตื่นตัวแต่อย่าตื่นตระหนก รู้เท่าทัน เตรียมรับมือ “ฝีดาษลิง”.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม