เมื่อวานนี้ผมแจ้งให้ท่านผู้อ่านทราบว่าผมจะแว่บไปร่วมประชุมสัมมนากับคณะผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่งทั่วประเทศ ที่พัทยา สัก 2–3 วัน จึงจำเป็นที่จะต้องเขียนต้นฉบับล่วงหน้าทิ้งไว้
พอดีว่าการประชุมครั้งนี้นอกจากจะว่ากันถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาว่าควรจะมีอะไรบ้าง? ในช่วงปีนี้หรือในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ อันเป็นภารกิจหลักของคณะผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาและสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะดำเนินการในทุกๆปีแล้ว
เรายังจะพูดถึงนโยบาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ยังคงเป็นนโยบาย “ทันสมัย” ซึ่งสหประชาชาติและประเทศต่างๆทั่วโลกยังคงดำเนินการกันอยู่ รวมทั้งประเทศไทยเรา
ในการประชุมสัมมนาจึงตั้งหัวข้อไว้ว่า “ไทยรัฐวิทยากับการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยจะเชื้อเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน รวมทั้งท่านอดีตซีอีโอใหญ่ของ ธนาคารกสิกรไทย คุณ บัณฑูร ล่ำซำ ซึ่งปัจจุบันนี้ลงไปช่วยการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับจังหวัดหรือโครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์” ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว
คุณบัณฑูรจะช่วยบรรยายพิเศษให้คณะผู้บริหารของเราฟัง วันนี้ (29 สิงหาคม) เวลาประมาณ 11.00 น. ครับ
ขณะเดียวกันเพื่อให้ทราบว่าที่มาที่ไปของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” คืออะไร? มีคำจำกัดความอย่างไร? และใน “พิมพ์เขียว” ขององค์การสหประชาชาติที่มีมติไว้เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558 ได้กำหนดเป้าหมายอะไรไว้บ้างนั้น...เมื่อวานนี้ผมไม่มีเนื้อที่พอจะนำลงได้
วันนี้ขออนุญาตเขียนต่ออีกวันก็แล้วกัน เพื่อให้ท่านผู้อ่านซึ่งอาจลืมไปแล้วว่า “เป้าหมาย 17 ประการของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยสหประชาชาติ” มีอะไรบ้าง? ได้ทบทวนความทรงจำกันอีกครั้งหนึ่ง
...
ผมคงไม่สามารถนำลงได้ครบทุกเป้าหมาย ขออนุญาตลงเฉพาะ 17 เป้าหมายหลักก็แล้วกันครับ เพื่อให้เห็นว่า SUSTAINABLE DEVELOPMENT GOALS หรือ SDGs ที่สหประชาชาติกำหนดไว้มีอะไรบ้าง...ดังนี้
1.ขจัดความยากจนให้หมดไป
2.ขจัดความอดอยากโดยผลิต และกระจายอาหารอย่างเหมาะสม
3.สุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดี
4.จัดการด้านการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
5.ความเท่าเทียมทางเพศ
6.จัดให้มีน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลอย่างทั่วถึง
7.จัดหาพลังงานสะอาดในราคาที่สามารถซื้อหาได้ในราคาเหมาะสม
8.สร้างอาชีพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี
9.พัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
10.ลดความเหลื่อมล้ำในทุกๆด้าน
11.พัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน
12.การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ
13.แก้ปัญหาโลกร้อน
14.การใช้ทรัพยากรในท้องทะเลอย่างเหมาะสม
15.การใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม
16.การสร้างสันติภาพความยุติธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง
17.ให้ความร่วมมือและเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาทุกเป้าข้างต้น เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด
ในการดำเนินการตาม 17 ข้อนี้ ให้คำนึงถึง “การบูรณาการ” หรือการมองเป็นองค์รวม ระหว่างเป้าหมายที่สนับสนุนกันให้มากที่สุดและคำนึงถึงบางเป้าหมายที่อาจขัดแย้งกันไปด้วย
รายละเอียดต่างๆไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ พิมพ์คำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ถามอากู๋สารพัดรู้ “กูเกิล” จะมีรายละเอียดให้ค้นหาและให้อ่านประดับความรู้จากหลายๆสถาบันเลยละครับ
ดูจากระยะเวลาที่สหประชาชาติกำหนดไว้ว่า เฟสแรกควรจะจบใน ค.ศ.2030 ซึ่งก็เหลืออีก 6 ปีเท่านั้น คงไม่น่าจะทำได้สำเร็จตามเป้า...น่าจะมีการขยายเฟสและยึดเป้าหมายการดำเนินการออกไปอีกหลายๆปีอย่างแน่นอน เผลอๆอาจจะต้องทำกันอีกหลายสิบปีครับ ดูจากสถานการณ์ ณ บัดนี้.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม